"เอสซีจี พลาสติกส์" ถูกสหรัฐสั่งปรับ 20 ล้านดอลลาร์ ฐานละเมิดคว่ำบาตรอิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday April 21, 2024 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศเมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.) ว่า บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด บริษัทผู้ผลิตพลาสติกสัญชาติไทย ได้ถูกทางการสหรัฐสั่งปรับเป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 736 ล้านบาท) ฐานละเมิดคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่าน รวมแล้วทั้งสิ้น 467 ครั้ง โดยทางเอสซีจี พลาสติกส์ ได้ยอมที่จะจ่ายค่าปรับเพื่อระงับเรื่องนี้ตามจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว

สำนักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า เอสซีจี พลาสติกส์ เป็นส่วนหนึ่งในเอสซีจี เคมิคอลส์ แต่ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ดำเนินการแล้ว หลังจากที่ได้โอนสินทรัพย์และหนี้สินไปให้บริษัทในเครือเอสซีจี เคมิคอลส์ อีกรายอย่างบริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด เมื่อเดือนม.ค. 2565 โดยที่ทางไทยโพลิเอททีลีนเคยทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังสหรัฐ เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งคว่ำบาตรจากสหรัฐเป็นเวลา 5 ปี

สำหรับสาเหตุในการสั่งปรับครั้งนี้ สำนักงานควบคุมทรัพย์สินในต่างประเทศ (OFAC) ในสังกัดกระทรวงการคลังสหรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประกาศและบังคับใช้คำสั่งคว่ำบาตรของสหรัฐอ้างว่า นับตั้งแต่อย่างน้อยเมื่อปี 2552 เอสซีจี พลาสติกส์ ได้ซื้อ วางจำหน่าย และขายต่อผลิตภัณฑ์เรซินพลาสติกที่ผลิตโดยธุรกิจร่วมทุนของอิหร่านแก่ลูกค้าในเอเชียตะวันออก

ธุรกิจร่วมทุนแห่งนี้มีชื่อว่าเมห์ร เปโตรเคมิคอล (Mehr Petrochemical) โดยที่เอสซีจีได้ร่วมลงทุนกับบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติของอิหร่านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลอิหร่าน เพื่อผลิตเรซินโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง ซึ่งมักใช้ในการผลิตพลาสติกฉีดขึ้นรูป เช่น ภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงขวดแชมพูและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

ทางการสหรัฐอ้างว่า เอสซีจี พลาสติกส์ ได้ออกใบแจ้งหนี้ให้กับลูกค้า โดยให้ลูกค้าชำระเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐถึงธนาคารในไทย จากนั้นธนาคารตัวแทนต่างประเทศ (correspondent bank) ในสหรัฐก็นำการชำระเงินเหล่านี้ไปดำเนินการต่อ ซึ่งในระหว่างปี 2560 ถึง 2561 นั้น ธนาคารตัวแทนในสหรัฐได้รับทำธุรกรรมการเงินสำหรับการขายผลิตภัณฑ์จากอิหร่านเหล่านี้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์รวม 291 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ทางการสหรัฐยังอ้างว่า เอสซีจีได้ดำเนินการและใช้เอกสารบางอย่างเพื่อพยายามทำให้ไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นผลิตจากอิหร่าน เช่น ระบุประเทศผู้ผลิตสินค้าว่าตะวันออกกลาง และระบุว่าขนส่งมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยทางการสหรัฐมองว่าการกระทำเหล่านี้เข้าข่าย "หลอกลวง" เพื่อไม่ให้สถาบันการเงินสหรัฐจับได้เมื่อต้องทำธุรกรรมการเงิน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังสหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่การผลิตอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนหลังปฏิบัติการโจมตีอิสราเอล ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า ผู้นำกลุ่ม G7 ให้คำมั่นที่จะดำเนินมาตรการร่วมกันเพื่อเพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน

ปธน.ไบเดนระบุว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรได้ช่วยอิสราเอลตอบโต้การโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนของอิหร่านเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรและการควบคุมการส่งออกครั้งใหม่กับอิหร่าน

"มาตรการคว่ำบาตรมุ่งเป้าไปที่ผู้นำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม กระทรวงกลาโหมของอิหร่าน ตลอดจนโครงการขีปนาวุธและโดรนของรัฐบาลอิหร่านที่ทำให้เกิดการโจมตีอย่างไร้ยางอาย" ปธน.ไบเดนระบุในแถลงการณ์

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐมุ่งเป้าไปที่บุคคล 16 รายและหน่วยงาน 2 แห่งที่ทำให้อิหร่านสามารถผลิตโดรนได้ รวมถึงโดรนชาเฮด (Shahed) ของอิหร่านที่นำมาใช้ในการโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ