ราคาทองฟิวเจอร์ร่วง ดอลล์แข็งกระทบตลาด ขณะจับตาประชุมเฟด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 23, 2019 23:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงลงในวันนี้ โดยถูกกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า

ณ เวลา 23.47 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 6.70 ดอลลาร์ หรือ 0.47% สู่ระดับ 1,420.20 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ในวันนี้ หลังจากที่ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายฉบับใหม่ ซึ่งจะทำให้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐเป็นเวลา 2 ปี และหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) ครั้งใหม่

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้ปัจจัยบวกจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ แม้มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ณ เวลา 22.37 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์บวก 0.44% สู่ระดับ 97.68 หลังจากแตะระดับ 97.71 ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความระบุว่า รัฐบาลและแกนนำในสภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบประมาณแล้ว โดยข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมงบประมาณเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะรวมถึงการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ เพื่อให้สหรัฐไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้

"ผมมีความยินดีที่จะประกาศให้ทราบว่า มิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และเควิน แมคคาร์ธี ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในเรื่องงบประมาณและเพดานหนี้ระยะเวลา 2 ปี" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ

ทางด้าน IMF ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ สู่ระดับ 3.2% จากเดิมที่ระดับ 3.3% ซึ่งมีการคาดการณ์ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าระดับ 3.5% ซึ่งมีการคาดการณ์ในเดือนม.ค.

ขณะเดียวกัน IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.5% ในปีหน้า แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 3.6%

ทั้งนี้ IMF ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า และความกังวลเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) "ความเสี่ยงยังคงมีแนวโน้มในช่วงขาลง ซึ่งรวมถึงความตึงเครียดทางการค้า และเทคโนโลยี ซึ่งจะบั่นทอนความเชื่อมั่น และทำให้การลงทุนชะลอตัว" IMF ระบุ

อย่างไรก็ดี IMF ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของสหรัฐในปีนี้สู่ระดับ 2.6% จากเดิมที่ระดับ 2.3% โดยระบุถึงการขยายตัวที่ดีกว่าคาดในไตรมาสแรก และคาดว่าจะขยายตัว 1.9% ในปีหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.

นักลงทุนลดคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ของเฟดในเดือนนี้ หลังการกล่าวถ้อยแถลงของนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ซึ่งส่งสัญญาณว่า เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมเดือนนี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสเพียง 23.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ก.ค.

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ของเฟด สู่ระดับเกือบ 70% หลังจากที่นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟด สาขานิวยอร์ก กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมประจำปีของ Central Bank Research Association โดยระบุว่า เฟดควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว โดยเน้นย้ำว่า การใช้มาตรการป้องกันเอาไว้ก่อนที่จะเกิดหายนะนั้น ถือเป็นแนวทางที่ดีกว่า และเมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำขณะนี้ เฟดควรจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและจริงจัง ซึ่งตลาดตีความว่า การกล่าวถ้อยแถลงของนายวิลเลียมส์เป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนนี้

อย่างไรก็ดี นักลงทุนลดคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ของเฟด หลังจากที่เฟดสาขานิวยอร์กออกมาชี้แจงในภายหลังว่า การกล่าวสุนทรพจน์ของนายวิลเลียมส์ เป็นเพียงการกล่าวในเชิงวิชาการ บนพื้นฐานของการวิจัยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ได้เป็นการบ่งชี้ถึงการดำเนินนโยบายของเฟดในวันที่ 30-31 ก.ค.แต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ