ภายใต้ระบบใหม่ที่จะนำมาใช้ในปีงบประมาณ 2561 เกษตรกรจะได้รับอนุญาตให้กำหนดปริมาณการผลิตได้ตามคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานของรัฐบาล แทนที่ระบบโควต้าที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งจำกัดกำลังการผลิต และพยุงราคาไม่ให้ดิ่งลงเนื่องจากการบริโภคที่ลดลง
ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวระหว่างการประชุมนโยบายการเกษตร "ผมต้องการผลักดันการปฏิรูปนโยบายภาคการเกษตรครั้งใหญ่ และจะยกเลิกนโยบายที่ขัดต่อการปฏิรูปโครงสร้าง"
โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้วยก็ระบุว่า กระทรวงวางแผนที่จะเสนอร่างการปฏิรูปในการประชุมรัฐสภาช่วงต้นปีหน้า
เกษตรกรมีส่วนร่วมใน "การปรับเปลี่ยนกำลังการผลิต" ในปัจจุบัน หรือโครงการลดพื้นที่นาข้าว ซึ่งจะได้รับเงินสนับสนุน 15,000 เยนต่อพื้นที่นา 1,000 ตร.ม. แต่เงินสนับสนุนดังกล่าวจะถูกแบ่งจ่ายตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557- 2561
นอกจากนี้ รัฐบาลจะยกเลิกการจ่ายเงินสนับสนุนแก่เกษตรกรในปีงบประมาณ 2557 หากราคาข้าวลดลงต่ำกว่าระดับมาตรฐาน
รัฐบาลจะใช้ระบบจ่ายเงินโดยตรงในปี 2557 สำหรับการอนุรักษ์พื้นที่การเกษตรในเขตภูเขา และเพิ่มเงินสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวเพื่อเป็นอาหารสัตว์โดยการให้เงินสนับสนุนตามปริมาณการผลิตแทนการวัดจากขนาดที่นา
การปรับเปลี่ยนนโยบายหลักเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลต้องการหาทางกระตุ้นอุตสาหกรรมที่มีการจัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตราที่สูง ซึ่งอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดกับเกษตรกรชาติอื่นๆ เมื่อข้อตกลงการค้าเสรีภาคพื้นแปซิฟิกเปิดทางให้สินค้านำเข้าราคาถูกไหลทะลักเข้ามา
ปัจจุบัน หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) เป็นการประชุมร่วมของ 12 ประเทศ ซึ่งรวมถึง ญี่ปุ่น และสหรัฐด้วย สมาชิก TPP ต่างต้องการบรรลุข้อตกลงให้ได้ภายในสิ้นปีนี้