ราคาน้ำมัน WTI ขยับขึ้นเล็กน้อยวันนี้ จากปัจจัยดอลลาร์อ่อนค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 14, 2016 22:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ขยับขึ้นเล็กน้อยในวันนี้ โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ แต่ถูกกดดันจากการที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า การประชุมระหว่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อตลาด

ณ เวลา 21.47 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 19 เซนต์ หรือ 0.45% สู่ระดับ 41.95 ดอลลาร์/บาร์เรล

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จะเพิ่มความน่าดึงดูดของสัญญาน้ำมัน โดยทำให้มีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดอลลาร์ร่วงลงในวันนี้เมื่อเทียบกับเยน หลังการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐที่ซบเซา ซึ่งบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ณ เวลา 21.51 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.26% สู่ระดับ 109.05 เยน หลังจากดีดตัวขึ้นก่อนหน้านี้ โดยพุ่งขึ้นเกือบ 2 เยนจากระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน แตะช่วงกลางของระดับ 109 เยนเป็นเวลาสั้นๆ จากการที่นักลงทุนพากันขายเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และหันเข้าซื้อดอลลาร์

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของราคาอาหาร, เวชภัณฑ์ และที่อยู่อาศัย ถึงแม้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้น

ก่อนหน้านี้ ดัชนี CPI ปรับตัวลง 0.2% ในเดือนก.พ.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนก.พ.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบรายปี

การเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดของดัชนี CPI บ่งชี้ว่าเฟดจะยังคงมีท่าทีระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

IEA ระบุว่า ถึงแม้การประชุมระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 17 เม.ย.จะสามารถบรรลุข้อตกลงตรึงกำลังการผลิตน้ำมัน แต่สิ่งนี้จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลก และตลาดจะยังคงไม่เข้าสู่ภาวะสมดุลด้านอุปสงค์และอุปทานจนกว่าจะถึงปี 2017

"ถ้าหากที่ประชุมตกลงกันแค่การคงกำลังการผลิต ไม่ใช่การปรับลดการผลิต สิ่งนี้ก็จะส่งผลกระทบเพียงจำกัดต่อปริมาณน้ำมันในตลาด" IEA ระบุ

"ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียกำลังผลิตน้ำมันที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอิหร่านทำการเพิ่มกำลังการผลิต การบรรลุข้อตกลงใดๆ จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อดุลอุปสงค์-อุปทานในช่วงครึ่งแรกของปีนี้"

IEA ระบุว่า แม้ว่าสหรัฐได้ลดการผลิตน้ำมัน และอิหร่านไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตมากอย่างที่คาดการณ์กันไว้ แต่การผลิตน้ำมันของโลกยังคงจะอยู่สูงกว่าการบริโภคตลอดทั้งปีนี้

IEA คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงครึ่งปีแรกนี้ และชะลอตัวสู่ระดับ 0.2 ล้านบาร์เรล/วันในครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ IEA ระบุว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะยังคงอ่อนตัวลงต่อไปในปีนี้

ทั้งนี้ IEA ระบุในรายงานประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้ว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะลดลงสู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ ต่ำกว่าระดับ 1.8 ล้านบาร์เรล/วันของปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในจีน, สหรัฐ และยุโรป

IEA ชี้ว่า การชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศดังกล่าวเกิดจากกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมที่เบาบางลง และสภาพอากาศที่อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ขณะที่จีนผลักดันให้การบริโภคเป็นปัจจัยผลักดันการขยายตัว แทนที่ภาคการผลิต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ