ราคาน้ำมัน WTI ทรุดกว่า 3% ใกล้หลุด 38 ดอลลาร์ หลังซาอุฯประกาศเพิ่มการผลิตน้ำมัน

ข่าวต่างประเทศ Monday June 8, 2020 23:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ทรุดกว่า 3% ใกล้หลุดระดับ 38 ดอลลาร์ในวันนี้ หลังซาอุดีอาระเบียประกาศเพิ่มการผลิตน้ำมันในเดือนก.ค.

ณ เวลา 22.59 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลดลง 1.35 ดอลลาร์ หรือ 3.41% สู่ระดับ 38.20 ดอลลาร์/บาร์เรล

เจ้าชายอับดูลาซิส บิน ซัลมาน รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า ซาอุดีอาระเบียจะเพิ่มการผลิตน้ำมันในเดือนก.ค.เพื่อให้สอดคล้องกับโควตาการผลิตน้ำมันของประเทศ หลังจากที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียได้สมัครใจปรับลดกำลังการผลิตเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ จนทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียต่ำกว่าโควตาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิต

ทั้งนี้ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส บรรลุข้อตกลงในการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วันออกไปจนถึงเดือนก.ค. จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.

ในเดือนมิ.ย. ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ให้สัญญาที่จะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม 1.18 ล้านบาร์เรล/วัน นอกเหนือจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วันของโอเปกพลัส โดยซาอุดีอาระเบียลดการผลิตมากถึง 1 ล้านบาร์เรล/วัน

เจ้าชายอับดูลาซิสกล่าวว่า การปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในเดือนก.ค. โดยซาอุดีอาระเบียจะผลิตน้ำมันสอดคล้องกับโควตา ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันโลก

ขณะเดียวกัน โอเปกพลัสจะปรับลดกำลังการผลิต 7.7 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนส.ค.ไปจนถึงสิ้นปี 2563 และจะปรับลด 5.8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ไปจนถึงเดือนเม.ย.2565

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับผลกระทบ จากการที่นักลงทุนผิดหวังต่อข้อตกลงของกลุ่มโอเปกพลัสที่มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วันออกไปเพียงเดือนเดียว

นายโฮวี ลี นักวิเคราะห์จากธนาคาร OCBC ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าโอเปกพลัสจะมีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก 3 เดือน หรือจนถึงเดือนก.ย.

นายลียังกล่าวว่า ตลาดจำเป็นต้องได้รับปัจจัยบวกที่แข็งแกร่งเพื่อผลักดันราคากลับไปอยู่ที่ระดับก่อนวันที่ 6 มี.ค. ซึ่งราคาทรุดตัวลงในขณะนั้น หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียไม่สามารถขรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต

ขณะเดียวกัน การละเมิดโควตาการผลิตน้ำมันจากประเทศสมาชิกโอเปกพลัส โดยเฉพาะอิรักและไนจีเรีย ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กดดันราคาน้ำมัน

นอกจากนี้ ผลผลิตน้ำมันจากลิเบียที่จะกลับเข้าตลาด ก็เป็นอีกปัจจัยที่ฉุดราคาน้ำมันลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ