อินเดียและญี่ปุ่นได้แจ้งต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม
ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรป (EU) และอังกฤษได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนในลักษณะเดียวกันไปยัง WTO แล้วเช่นกัน
ในเอกสารที่ยื่นต่อ WTO อินเดียและญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2561 เข้าข่ายมาตรการปกป้อง ภายใต้ความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้องของ WTO (WTO Agreement on Safeguards) แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้แจ้งให้ WTO ทราบอย่างเป็นทางการก็ตาม นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังสงวนสิทธิ์ที่จะระงับการให้สิทธิประโยชน์และข้อผูกพันอื่น ๆ ด้วยการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการ
อินเดียประเมินว่า ภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 7.6 พันล้านดอลลาร์ และทำให้สหรัฐฯ สามารถเรียกเก็บภาษีจากอินเดียได้ถึง 1.91 พันล้านดอลลาร์ โดยอินเดียประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์ที่มีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ เพื่อให้ได้มูลค่าเทียบเท่ากับภาษีที่ตนเองถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บ
ด้านญี่ปุ่นแจ้งว่า มาตรการตอบโต้จะครอบคลุมทั้งภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการจำกัดการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่สหรัฐฯ ตั้งขึ้นด้วย โดยจะระงับสิทธิประโยชน์ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการในอัตราที่เทียบเท่ากัน และจะยื่นรายละเอียดซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลการส่งออกล่าสุดให้ WTO ก่อนการบังคับใช้มาตรการ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียม 10% ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2561 ภายใต้มาตรา 232 ของพระราชบัญญัติการขยายการค้าปี 2505 โดยอ้างความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติ และในเดือนก.พ. 2563 สหรัฐฯ ได้ขยายการจัดเก็บภาษีไปยังผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเหล็กและอะลูมิเนียมเพิ่มเติม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มี.ค 2568 รัฐบาลทรัมป์ได้ปรับขึ้นภาษีอะลูมิเนียมจาก 10% เป็น 25% พร้อมยกเลิกโควตานำเข้าและข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่เคยมีต่อภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวสร้างความไม่พอใจและเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวาง ขณะที่ EU และอังกฤษก็ได้แจ้ง WTO ว่าขอสงวนสิทธิ์ในการระงับสิทธิประโยชน์ทางการค้าในระดับที่ทัดเทียมกันเช่นกัน