นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย กล่าวว่า การประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ที่นครริโอเดจาเนโร ไม่ได้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งสกุลเงินร่วมของ BRICS แต่อย่างใด
"เราไม่ได้หารือเกี่ยวกับสกุลเงินของ BRICS" นายแอร์ลังกากล่าวทั้งนี้ ที่ประชุม BRICS มีมติในการออก "ปฏิญญาริโอเดจาเนโร" โดยไม่มีการระบุถึงประเด็นสกุลเงินร่วมของกลุ่ม BRICS แต่มีการเรียกร้องให้มีการหารือต่อเนื่องเกี่ยวกับระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนและระบบการชำระเงินในอนาคต
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศจับตากลุ่ม BRICS เนื่องจากมีรายงานว่า BRICS มีแผนจัดตั้งสกุลเงินร่วมเพื่อแข่งขันกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ปธน.ทรัมป์ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรสูงถึง 100% ต่อประเทศสมาชิก BRICS หากเดินหน้าจัดตั้งสกุลเงินร่วมดังกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2566 ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ผู้นำบราซิล ได้เรียกร้องให้สมาชิกกลุ่ม BRICS พิจารณาข้อเสนอในการใช้สกุลเงินร่วม เพื่อลดความเสี่ยงต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์
อย่างไรก็ดี สมาชิกอื่น ๆ ของกลุ่ม BRICS เช่น อินเดียและแอฟริกาใต้ แสดงจุดยืนในขณะนั้นว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในวาระการประชุม ขณะที่อินเดียส่งเสริมการใช้สกุลเงินประจำชาติในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศสมาชิก
ทั้งนี้ กลุ่ม BRIC ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 โดยประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ก่อนที่แอฟริกาใต้จะเข้าร่วมในปี 2554 และเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม BRICS
ต่อมา อียิปต์ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเอธิโอเปีย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของ BRICS ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ขณะที่อินโดนีเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2568
ส่วนเบลารุส โบลิเวีย คิวบา คาซัคสถาน มาเลเซีย ไทย ยูกันดา และอุซเบกิสถาน ได้รับสถานะเป็น "ประเทศหุ้นส่วน" ของ BRICS ในวันที่ 1 ม.ค.2568 และต่อมาในวันที่ 17 ม.ค. ไนจีเรียได้รับสถานะเป็นประเทศหุ้นส่วนเพิ่มเติม
สำหรับซาอุดีอาระเบีย แม้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบในการประชุมสุดยอดปี 2566 และมีกำหนดให้การเป็นสมาชิกมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2567 แต่ซาอุดีอาระเบียตัดสินใจไม่เข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในช่วงต้นปี 2567 ตามแผนที่กำหนดไว้ และได้ประกาศในช่วงกลางเดือนม.ค.ว่า ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
การตัดสินใจของซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ขณะนี้กลุ่ม BRICS มีสมาชิกอย่างเป็นทางการรวม 10 ชาติ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ อียิปต์ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย และอินโดนีเซีย