สหรัฐฯ ประกาศถอนการคว่ำบาตรพันธมิตรคนสำคัญหลายรายของรัฐบาลทหารเมียนมาเมื่อวันพฤหัสบดี (24 ก.ค.) โดยการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นเพียง 2 สัปดาห์หลังจากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ส่งจดหมายยกย่องประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และร้องขอให้ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจุดประกายความกังวลทันทีจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน โดยฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ระบุว่าเป็นการกระทำที่ "น่ากังวลอย่างยิ่ง" และอาจเป็นสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางนโยบายครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ต่อกองทัพเมียนมาซึ่งก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในปี 2564 และพัวพันกับข้อกล่าวหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ตามประกาศจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ บุคคลและบริษัทที่ถูกถอดชื่อออกจากบัญชีคว่ำบาตร ได้แก่ บริษัท เคที เซอร์วิสเซส แอนด์ โลจิสติกส์ (KT Services & Logistics) และ โจนาธาน เมียว จอว์ ตอง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง, บริษัท เอ็มซีเอ็ม กรุ๊ป (MCM Group) และ อ่อง หล่าย อู ซึ่งเป็นเจ้าของ และบริษัท ซันแทค เทคโนโลยีส์ (Suntac Technologies) รวมถึง ซิท ต่าย อ่อง และติน ลัต มิน ซึ่งเป็นเจ้าของ
บุคคลและบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกขึ้นบัญชีคว่ำบาตรในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เนื่องในวาระครบรอบการรัฐประหาร และจากบทบาทในการสนับสนุนกองทัพเมียนมา
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ก.ค. พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้ส่งจดหมายถึงทรัมป์เพื่อตอบกลับคำเตือนเรื่องกำแพงภาษี 40% โดยเสนอให้สหรัฐฯ ลดอัตราภาษีลงเหลือ 10-20% แลกกับการที่เมียนมาจะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0-10% พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้ทรัมป์ "ทบทวนการผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ"
สื่อของรัฐบาลเมียนมารายงานคำยกย่องในจดหมายตอนหนึ่งว่า พลเอกอาวุโส "ยกย่องความเป็นผู้นำอันแข็งแกร่งของท่านประธานาธิบดีในการนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ด้วยจิตวิญญาณของผู้รักชาติที่แท้จริง"
การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเพื่อเข้าถึงแหล่งแร่หายาก (rare earth) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและยุทโธปกรณ์ โดยเมียนมาเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตที่สำคัญของโลก แต่เหมืองส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ควบคุมของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สู้รบกับรัฐบาลทหาร และผลผลิตถูกส่งไปแปรรูปในจีน
จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ "น่าตกใจ" และจะสร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกองทัพเมียนมาและผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศ