สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ออกแถลงการณ์เรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาเลือกใช้การยับยั้งชั่งใจแทนการตอบโต้ และเลือกการเจรจาแทนการทำลาย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามแนวชายแดน
แถลงการณ์ระบุว่า ชายแดนไทย-กัมพูชาเผชิญกับความตึงเครียดและข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตมาอย่างยาวนานและยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ได้ทวีความรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้พลเรือนบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงเด็ก อีกทั้งบ้านเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาลในจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษได้รับผลกระทบจากการโจมตี
เมอร์ซี คริสตี บาเรนด์ส ประธาน APHR และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย กล่าวว่า "ครอบครัวที่เคยไป ๆ มา ๆ ตามแนวชายแดนเหล่านี้เพื่อค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน และเกี่ยวดองกันเป็นญาติมิตร บัดนี้ต้องเผชิญกับความบอบช้ำจากการพลัดถิ่น การสูญเสียบริการที่จำเป็น และการพังทลายของแหล่งยังชีพ ต้นทุนของความขัดแย้งนี้ไม่ใช่เพียงการสูญเสียชีวิตในทันที แต่ยังเสี่ยงที่จะทำลายสายสัมพันธ์ทางสังคมที่ยึดโยงภูมิภาคของเราไว้ด้วยกัน" พร้อมเสริมว่า ในฐานะประธานอาเซียน มาเลเซียจะต้องใช้โอกาสสำคัญนี้ในการยุติความขัดแย้งและสร้างความร่วมมือทางการทูตที่จะนำมาซึ่งสันติภาพ
ขณะที่ชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานร่วม APHR และอดีตสมาชิกรัฐสภามาเลเซีย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ประธานอาเซียน อยู่ในสถานะที่จะสามารถนำรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างจริงจัง และ "การแทรกแซงอย่างเด็ดขาดของเขาจะสามารถเปลี่ยนความเป็นปรปักษ์ให้กลายเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันในการปกป้องพลเรือนเป็นอันดับแรก"
APHR เรียกร้องให้ประธานอาเซียนดำเนินการให้มีการหยุดยิงทันที จัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมที่ปลอดภัย และฟื้นการเจรจาโดยตรงระหว่างไทยและกัมพูชา ทั้งนี้ กฎบัตรอาเซียนได้กำหนดให้การระงับข้อพิพาทอย่างสันติและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสำคัญของความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งคุณค่าเหล่านี้จะต้องถูกทดสอบและยึดถือปฏิบัติจริงในตอนนี้
นอกจากนี้ APHR ยังได้เรียกร้องให้มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ใช้เครื่องมือทางการทูตทุกอย่างที่มี เพื่อแสดงให้เห็นว่าหน้าที่อันดับแรกและสำคัญที่สุดของอาเซียนคือการปกป้องชีวิตมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด