Analysis: ความสัมพันธ์สหรัฐ-เกาหลีเหนือปี 2561 จะดำเนินไปในทิศทางใด

ข่าวการเมือง Thursday December 28, 2017 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากการที่คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดมากที่สุดอีกครั้งในปีนี้ ดังนั้น สถานการณ์ระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือในปี 2561 จึงยังคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้

แดร์เรลล์ เวสต์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันสถาบันบรู๊กกิงส์ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ปีที่จะถึงนี้อาจเป็นปีชี้ชะตาระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ และยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าแรงกดดันจากนานาชาติจะทำให้เกาหลีเหนือหยุดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่

เวสต์มองว่า การที่จะทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือหยุดพัฒนาโครงการนิวเคลียร์นั้น ประธานาธิบดีสหรัฐได้ขู่ที่จะใช้กำลังทางการทหาร ซึ่งมีแต่จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นไปอีก

ด้าน Stratfor ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านนโยบายทางการเมือง ระบุในแถลงการณ์ด้วยมุมมองที่แตกต่างเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า สหรัฐอาจจะลงเอยด้วยการไม่ทำอะไรเกาหลีเหนือเลย

"แม้ว่า เราจะยังไม่สามารถตัดความเป็นไปได้เกี่ยวกับการใช้กำลังทางทหาร แต่สงครามในเอเชียตะวันออกจะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า" รอดเจอร์ เบเกอร์ รองประธานฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ของ Stratfor กล่าว

ในปีนี้ สงครามโวหารของทรัมป์ และคิม จอง อึน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทรัมป์ได้ขู่ที่จะใช้กำลังทางทหารโจมตีหลายครั้ง โดยทรัมป์เคยขู่ว่าจะโจมตีเกาหลีเหนืออย่างเกรี้ยวกราดหากเกาหลีเหนือคุกคามสหรัฐ ขณะที่เกาหลีเหนือเองได้ขู่ว่าจะทำให้สหรัฐกลายเป็นทะเลเพลิง

ทรัมป์พยายามที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ และกดดันเกาหลีเหนือมาโดยตลอดด้วยนโยบายที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ซึ่งทำให้หลายประเทศได้รับผลกระทบไปด้วย ขณะที่เกาหลีเหนือยังคงยิงทดสอบขีปนาวุธต่อไป และสหรัฐเองก็ยังคงซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้เพื่อส่งสัญญาณตอบโต้

อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือคงจะไม่ละทิ้งโครงการนิวเคลียร์ในเร็วๆนี้แน่นอน แม้ว่า ทรัมป์จะพยายามมากเพียงใดก็ตาม

เหล่านักวิเคราะห์ของสหรัฐหลายรายมองว่า ผู้นำเกาหลีเหนือเป็นนักการเมืองที่ชาญฉลาด เนื่องจากเห็นผลของการที่ถูกสหรัฐเข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศอย่างในอิรักและลิเบียมาแล้ว ซึ่งเกาหลีเหนือเองไม่ต้องการเช่นนั้น ส่งผลให้อาวุธนิวเคลียร์เป็นไพ่ใบสุดท้ายที่จะทำให้ประเทศรอดพ้นจากการถูกสหรัฐเข้าแทรกแซง

ทรอย สตันกาโรน ผู้อำนวยการอาวุโสประจำสถาบันเศรษฐกิจเกาหลี กล่าวว่า เกาหลีเหนือกำลังเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก เนื่องจากถูกรุมล้อมจากมหาอำนาจอย่างเกาหลีใต้ สหรัฐ และญี่ปุ่น

"จากมุมมองของเกาหลีเหนือ การไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ทำให้ตนเองไม่สามารถอยู่ต่อได้อย่างปลอดภัย" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆมองว่า เกาหลีเหนือนั้นต้องการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่แรกเริ่ม

นายดักลาส พาอาล รองประธานด้านการศึกษาประจำศูนย์รวมทางความคิด Carnegie Endowment for International Peace ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "เกาหลีเหนือต้องการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มานานแล้ว"

เมื่อถามว่า ท่าทีของทรัมป์จะทำให้เกาหลีเหนือยอมสยบหรือไม่ สตันกาโรนกล่าวว่า "คิม จิง อึน ไม่เกรงกลัววาทะของทรัมป์อยู่แล้ว"

บทวิเคราะห์โดย แมททิว รัสลิง

สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ