เกาะติดอิทธิพลผู้นำทางการเมืองทั่วโลก โพลล์เผย "ฝรั่งเศส"-"ซาอุฯ" น่าจับตา

ข่าวการเมือง Thursday November 1, 2018 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์เผยให้เห็นว่า บรรดาผู้นำของชาติต่างๆทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มที่จะทรงอิทธิพลต่อไป อย่างไรก็ดี มีผู้นำบางประเทศที่น่าจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำของฝรั่งเศส ซาอุดีอาระเบีย และเยอรมนี

*นายเอมมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

แม้นายมาครองชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว เหนือนางมารีน เลอ เปน ซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายขวาจัด ทว่าเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา คะแนนนิยมของนายเอมมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความพยายามในการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของเขา

ผลสำรวจระบุว่า ผู้ถูกสำรวจไม่ถึง 25% มีความพึงพอใจต่อผลการทำงานของนายมาครอง ซึ่งจำนวนดังกล่าวลดลงถึง 12% จากผลสำรวจในเดือนมิ.ย.

นักวิเคราะห์เปิดเผยว่า นายมาครอง วัย 40 ปี จำเป็นต้องหาวิธีการเอาตัวรอดจากวิกฤตินี้ให้ได้ก่อนปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ฝรั่งเศสจะเปิดฉากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง หากตนไม่ต้องการเป็นปธน.ที่มีโอกาสดำรงตำแหน่งนี้เพียงวาระเดียว โดยขณะนี้นายมาครองดูแทบจะไม่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งอีก

*เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย

แม้ซาอุดีอาระเบียปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และผลงานการปราบปรามคอร์รัปชั่นของมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียเมื่อปีที่แล้วจะได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลก ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ทำให้อนาคตของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ดูสั่นคลอน

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียเดินหน้าบังคับใช้มาตรการปราบปรามทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดภายในหมู่สมาชิกราชวงศ์ รัฐมนตรี และนักธุรกิจ หลังมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า นักธุรกิจระดับสูงหลายรายถูกจับกุมตัว ซึ่งรวมถึง นายนัซเซอร์ บิน อคีล อัล-เทย์ยาร์ หนึ่งในคณะผู้บริหารบริษัทท่องเที่ยวชื่อดังของซาอุดิอาระเบีย และเจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาล มหาเศรษฐีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทหลายแห่ง

รายงานระบุว่า มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ประธานคณะกรรมการปราบปรามทุจริต เป็นแกนนำในปฏิบัติการกวาดล้างการทุจริตในครั้งนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมองว่า การปราบปรามการทุจริตครั้งใหญ่นี้ จะส่งผลให้มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มีอิทธิพลมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

ทว่าในปีนี้ ข่าวการสังหารนายจามาล คาช็อกกี นักข่าวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองในประเทศนั้น ได้เข้ามาเขย่าบัลลังก์ของมกุฎราชกุมารพระองค์นี้ ส่งผลให้ทั่วโลกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ในการปกครองประเทศ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ปัจจุบันบัลลังก์ของพระองค์ยังดูมั่นคง แต่ถ้าในอนาคตพระองค์ทรงทำผิดพลาดอีก ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีฝ่ายต่อต้านที่รุนแรงมากพอที่จะโค่นล้มพระองค์ได้

*นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้เข้ามามีอิทธิพลทั้งในเยอรมนีและยุโรปเป็นเวลาถึง 13 ปี แต่ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ นางแมร์เคิล ได้ประกาศไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 5 และจะไม่ชิงตำแหน่งประธานพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) หลังจากที่ทางพรรคมีผลการเลือกตั้งที่น่าผิดหวังในรัฐเฮ็สเซิน

นางแมร์เคิลกล่าวว่า ตนจะไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง หลังจากที่สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2564 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นางแมร์เคิลยืนยันว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ขึ้นครองอำนาจนับตั้งแต่ปี 2548

อย่างไรก็ดี แม้นางแมร์เคิลมีความตั้งใจที่จะดำรงตำแหน่งนี้ไปจนถึงปี 2564 แต่นักวิเคราะห์มองว่านายกฯ เยอรมนีรายนี้อาจต้องลงจากเก้าอี้ก่อนกำหนด หากพรรค CDU มีการแต่งตั้งผู้นำพรรคคนใหม่ที่เป็นปรปักษ์ต่อเธอ และถึงแม้หัวหน้าพรรคคนใหม่จะอยู่ฝ่ายเดียวกัน ก็ยังคงเป็นไปได้ยากที่นางแมร์เคิลจะอยู่ถึงปี 2564 จริง ๆ

*นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ

นักวิเคราะห์มองว่า นายคิม จอง อึน จะยังคงมีอิทธิพลต่อไปอีกหลายทศวรรษ หากไม่มีการรัฐประหาร แผนลอบสังหาร หรือต้องทำสงครามกับประเทศอื่น

*นายเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี

นายเออร์โดกัน วัย 64 ปี ซึ่งครองอำนาจในฐานะผู้นำตุรกีตั้งแต่ปี 2546 ได้ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาของตุรกีในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในระบบการเมืองของประเทศในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ เนื่องจากตุรกีจะเปลี่ยนไปใช้ระบบการบริหารผ่านประธานาธิบดี (executive presidency) แทนรัฐสภา

นักวิเคราะห์มองว่า ระบบการบริหารผ่านประธานาธิบดีนี้จะเปิดโอกาสให้นายเออร์โดกันครองอำนาจได้ถึงปี 2571 และอาจยืดวาระของตนได้อีกด้วยการจัดการเลือกตั้งก่อนเวลาที่กำหนด ก่อนวาระของตนจะสิ้นสุดลง เท่ากับว่าอนาคตของนายเออร์โดกันค่อนข้างมั่นคง

*นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้เข้าพิธีสาบานตนรั้งตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียเป็นสมัยที่ 4 เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ครองอำนาจในฐานะประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรัสเซียมาเป็นเวลานานถึง 18 ปี

ประธานาธิบดีปูตินชนะการเลือกตั้งในวันที่ 18 มี.ค. หลังจากที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวรัสเซียผู้มีสิทธิลงคะแนนจำนวนมากกว่า 70%

ทว่าประธานาธิบดีรัสเซียได้ส่งสัญญาณว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากวาระการดำรงตำแหน่งของเขาสิ้นสุดลงในปี 2567 โดยกล่าวว่า เขาจะเคารพรัฐธรรมนูญของรัสเซียที่กำหนดว่าไม่ให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งมากกว่า 2 สมัย

อย่างไรก็ตาม ปูตินได้ทำหน้าที่ประธานาธิบดีรัสเซียเป็นสมัยที่ 4 แล้ว โดยเขาเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งเขาจะทำหน้าที่ประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่งเป็นเวลา 6 ปี

นักวิเคราะห์มองว่า แม้พ้นปี 2567 ไปแล้ว แต่ปธน.ปูตินน่าจะยังคงมีอำนาจอยู่ โดยเขาอาจมีโอกาสเป็นปธน.อีกสมัย หรือไม่ก็เข้ามาใช้อิทธิพลผ่านปธน.คนใหม่

*นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า นายนเรนทรา โมดี วัย 68 ปี จะยังคงคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2562 แม้มีคะแนนนิยมลดลงบ้างเล็กน้อย ซึ่งหากเขาคว้าชัยชนะจริง ๆ แล้ว นายโมดีจะมีอำนาจไปจนถึงปี 2567

*นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ซึ่งเป็นรัฐสภาของจีน เห็นชอบให้มีการปรับแก้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งปูทางให้นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน สามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่จำกัดระเวลา

เดิมทีรัฐธรรมนูญจีนกำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย หรือเท่ากับ 10 ปี ขณะที่วาระดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของปธน.สีจะหมดลงในปี 2566 หลังจากที่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2556

*นายอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า นายอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน วัย 79 ปี จะยังคงดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปจนกว่าจะถึงแก่กรรม หรืออย่างน้อยอีก 9 ปีข้างหน้า

*นายนิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา

นายนิโคลัส มาดูโร ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาเป็นสมัยที่ 2 โดยนายมาดูโรจะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไปอีก 6 ปีจนถึงปี 2567

*นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศสมัยที่ 2 ในปี 2563 แม้ต้องเผชิญกับข้อพิพาทหลายด้าน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐได้ปรากฏให้เห็นความแข็งแกร่ง และฐานเสียงยังคงมั่นคง

*นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล

นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกำลังเผชิญกับประเด็นอื้อฉาวมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการรับสินบนและใช้เงินหลวงซื้อของส่วนตัว โดยนักวิเคราะห์มองว่า โอกาสที่เขาจะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยนั้นขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนของตำรวจในประเด็นนี้

*นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา นายชินโซ อาเบะ หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือแอลดีพี และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคแอลดีพี นับเป็นการทำหน้าที่หัวหน้าพรรคอย่างต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3

ชัยชนะของการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ ทำให้นายอาเบะมีโอกาสเป็นนายกฯ ที่ทำหน้าที่ยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น รวมทั้งการเดินหน้าตามเป้าหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ (Pacifist Constitution) ในช่วงวาระการทำหน้าที่นายกฯอีก 3 ปีข้างหน้านี้

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่า 51% ของผู้ที่ได้รับการสำรวจไม่เห็นด้วยต่อแผนการของนายอาเบะที่จะยื่นเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ ขณะที่ 35.7% เห็นด้วยกับแผนการดังกล่าว โดยนักวิเคราะห์มองว่า นายอาเบะอาจมีคะแนนนิยมลดลงในปีหน้า ซึ่งเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งวุฒิสภา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ