คลื่นความร้อนรุนแรงครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้างของจีนหลายวันติดต่อกัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่เกิน 1.5 พันล้านกิโลวัตต์ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ด้านพลังงาน ขณะที่สำนักงานพลังงานแห่งชาติรายงานเมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) ว่า จีนทำลายสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นครั้งที่ 3 ในเดือนนี้ สูงกว่าระดับสูงสุดของปีก่อนถึง 55 ล้านกิโลวัตต์ และนับตั้งแต่ต้นฤดูร้อน สถิติการใช้ไฟฟ้าระดับมณฑลถูกทำลายไปแล้วถึง 36 ครั้ง
อิทธิพลของคลื่นความร้อนนี้ครอบคลุมตั้งแต่เมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นในภาคตะวันตกเฉียงใต้ เช่น ฉงชิ่งและเฉิงตู ไปจนถึงท่าเรือสำคัญทางตอนใต้ของกว่างโจว โดยนักอุตุนิยมวิทยาชี้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลายเป็นความท้าทายสำคัญของทางการจีน ขณะเดียวกัน สื่อของทางการจีนระบุว่า ความกดอากาศสูงแบบกึ่งร้อนชื้นทางตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้อุณหภูมิที่สถานีอุตุนิยมวิทยา 8 แห่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงสองวันที่ผ่านมา
ผลกระทบจากความร้อนจัดไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้ไฟฟ้า แต่ยังกระทบภาคการเกษตร ศูนย์กลางการผลิต และท่าเรือสำคัญหลายแห่ง ขณะที่ระบบสาธารณสุขที่มีภาระหนักอยู่แล้วต้องเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายและรายได้ของเกษตรกรลดลง
ข้อมูลจากสื่อทางการเปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มณฑลเจียงซีทางตอนใต้มีอุณหภูมิสูงกว่า 28 องศาเซลเซียสเฉลี่ยปีละ 21.7 วัน เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 5-7 วันต่อปีเมื่อต้นศตวรรษนี้ โดยภาวะคลื่นความร้อนที่ยาวนานทำให้สถานีโทรทัศน์ CCTV ต้องนำเสนอวิธีคลายร้อนแบบดั้งเดิม เช่น การนอนกอดฟักเขียวที่เชื่อว่าสามารถดูดซับความร้อนในร่างกาย ขณะที่สวนสัตว์ในฉงชิ่งถึงขั้นต้องให้สัตว์กินแตงโมแช่เย็นเพื่อคลายร้อน
ด้านการผลิตไฟฟ้านั้น ชิม ลี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก Economist Intelligence Unit ให้ข้อมูลว่า จนถึงขณะนี้ระบบไฟฟ้ายังคงรองรับได้ แต่ฤดูร้อนที่ยาวนานอาจเป็นบททดสอบสำคัญ และยังคงมีความเสี่ยงที่จีนจะต้องใช้มาตรการจำกัดการใช้ไฟฟ้า โดยเขาระบุว่า พลังงานแสงอาทิตย์คิดเป็นครึ่งหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. ขณะที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2566 แต่ยังต่ำกว่าระดับปี 2565
แม้นักพยากรณ์อากาศคาดว่าอุณหภูมิอาจเริ่มลดลงตั้งแต่วันจันทร์หน้า โดยหย่อมความกดอากาศต่ำทางตะวันออกของฟิลิปปินส์มีแนวโน้มทวีกำลังเป็นพายุโซนร้อนซึ่งอาจถูกตั้งชื่อว่า "วิภา" และเคลื่อนตัวผ่านไต้หวันเข้าสู่จีนตอนใต้ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าความกดอากาศสูงแบบกึ่งร้อนชื้นจะกีดขวางการเคลื่อนตัวของพายุ ทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานเต็มกำลังต่อไป และยิ่งเพิ่มความตึงตัวให้กับโครงข่ายไฟฟ้า