In Focusฟุตบอลโลก 2014 มหกรรมการแข่งขันกีฬายิ่งใหญ่ที่ทุกคนตั้งตารอ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 11, 2014 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อีกเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง การแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า 2014 FIFA World Cup ก็จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการที่สนามอารีนา เดอ เซาเปาโล ในเมืองเซาเปาโล ซึ่งจะเป็นการพบกันของคู่เปิดทัวร์นาเมนท์ระหว่างทีมบราซิลเจ้าภาพกับทีมชาติโครเอเชีย ในวันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นในบราซิลซึ่งจะตรงกับเวลา 3.00 น. ของวันศุกร์ที่ 13 ในประเทศไทย สิ้นสุดการรอคอยเกมการการแข่งขันที่น่าตื่นเต้นมาอย่างยาวนานเป็นเวลาถึง 4 ปี

ฟุตบอลโลก 2014 เป็นการจัดการแข่งขันระหว่างทีมนักฟุตบอลชายในระดับนานาชาติในบราซิลระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน – 13 กรกฎาคม 2557 โดยมีทีมที่ผ่านรอบคัดเลือกเข้าแข่งขันทั้งหมด 31 ทีม และทีมเจ้าภาพซึ่งไม่ต้องทำการแข่งขันในรอบคัดเลือกอีก 1 ทีม รวมเป็นทั้งหมด 32 ทีม แบ่งเป็นการแข่งขันออกเป็น 64 แมตช์ ใน 12 เมือง และเป็นครั้งแรกของทัวร์นาเมนท์ที่การแข่งขันฟุตบอลโลกได้นำเอาเทคโนโลยีเส้นประตูมาใช้ คู่ชิงชนะเลิศสำหรับทัวร์นาเมนท์นี้จะทำการแข่งขันเป็นคู่ปิดสนามในวันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม ในเวลาท้องถิ่น ซึ่งจะตรงกับช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ตามเวลาประเทศไทย การแข่งขันในปีนี้ถือเป็นการป้องกันแชมป์โลกของทีมกระทิงดุจากสเปน

ฟุตบอลโลกได้ความนิยมเพิ่มขึ้น คาดฟีฟ่าทำรายได้ตลอดทัวร์นาเมนท์กว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การแข่งขันฟุตบอลโลกซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 12 กรกฎาคม คาดว่า จะสร้างรายได้ให้กับสมาพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (International Association of Federation Football หรือ FIFA) ได้มากถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 66% จากทัวร์นาเมนท์ก่อนหน้านี้ซึ่งจัดขึ้นที่แอฟริกาใต้ในปี 2010 (พ.ศ. 2553) โดยรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดโทรทัศน์และสิทธิ์ในการทำการตลาด การแข่งขันฟุตบอลโลกถือเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาที่สร้างรายได้ให้กับสมาคมกีฬาได้มากกว่า ซึ่งรวมไปถึงการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่หากเปรียบเทียบรายได้ต่อวัน การจัดการแข่งขันซูเปอร์โบว์ลในสหรัฐยังคงทำสถิติทำรายได้ต่อทัวร์นาเมนท์ได้มากที่สุด นักวิเคราะห์คาดว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกในบราซิลจะทำกำไรให้กับฟีฟ่าได้มากถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลการวิจัยของฟีฟ่าพบว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2010 ที่แอฟริกาใต้มีจำนวนผู้ชมการถ่ายทอดผ่านเครื่องรับโทรทัศน์อย่างน้อย 1 นาทีทั้งหมด 909 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้ชมอย่างน้อย 1 นาทีตลอดทั้งทัวร์นาเมนท์อยู่ที่ 3.2 พันล้านคน คิดเป็นจำนวนผู้ชมโดยเฉลี่ย 188.4 ล้านคนในแต่ละแมตช์

แต่อย่างไรก็ดี การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยบราซิลจะต้องจ่ายเงินให้กับฟีฟ่ามากถึง 576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 37% จากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ ในขณะที่จำนวนเงินรางวัลในการแข่งขันแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 70 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 70% จากการแข่งขันในแอฟริกาใต้ โดยทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนทีมที่ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายจะได้รับเงินรางวัลทีมละ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากนับรวมจำนวนนักฟุตบอลทั้งหมดที่เข้าร่วมการแข่งตลอดทั้งทัวร์นาเมนท์ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อนักกีฬา 1 คนจะตกอยู่ที่ 2,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

ธุรกิจการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกเริ่มเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 ในขณะที่รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไม่นับรวมในสหรัฐแตะที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าจาก 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการจัดการแข่งขัน 3 ครั้งในทศวรรษที่ 1990 และเพิ่มขึ้น 11 เท่าจากการจัดการแข่งขันในทศวรรษที่ 1980

ด้วยความสำเร็จในเรื่องการเติบโตของรายได้ดังกล่าวส่งผลให้ฟีฟ่าตั้งงบประมาณสำหรับปี 2558-2561 เอาไว้ที่ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจำนวน 2.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นงบประมาณสำหรับการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย

สนามจัดการแข่งขันแต่ละแห่งได้รับการปรับโฉมสุดอลังการ

บราซิลทุ่มงบประมาณในการก่อสร้างและบูรณะสนามฟุตบอลทั้ง 12 สนามเป็นจำนวนเงินมากถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากบางสนามไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานในระยะยาว และเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการด้านสังคมในประเทศหลายโครงการที่ได้งบประมาณอย่างจำกัดจำเขี่ย

อย่างไรก็ดี สนามทั้ง 12 แห่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของบราซิล โดยแต่ละสนามต่างก็มีความสวยงามและตกแต่งด้วยธรรมชาติได้อย่างโดดเด่น แต่ก็มีหลายสนามที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ในขณะที่การก่อสร้างสนามบางแห่งไม่เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นสลัม และบางสนามใช้งบประมาณสูงเกินจำเป็น

สนามฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันทั้งหมด 12 แห่งคาดว่า จะสามารถรองรับแฟนฟุตบอลจากทั่วโลกได้มากกว่า 600,000 คน

ปธน.บราซิลย้ำการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าการลงทุน

ประธานาธิปดีดิลมา รูสเซฟฟ์ ของบราซิล ไม่เห็นด้วยกับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยระบุว่า การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวจะช่วยยกระดับระบบสาธารณูปโภคของบราซิลและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษกิจของประเทศ และบราซิลก็มีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

รูสเซฟฟ์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า “ผลลัพธ์ที่ได้และการเฉลิมฉลองในท้ายที่สุดถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่าสำหรับความพยายาม บราซิลได้เอาชนะปัญหาที่สำคัญๆได้หลายประการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันทั้งในและนอกสนาม" โดยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับการแข่งขันจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการรองรับจำนวนผู้โดยสารของสนามบินเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และประเทศจะมีระบบขนส่งมวลที่มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

ผลการสำรวจความเห็นจากประชาชนทั่วไปพบว่า นางรูสเซฟฟ์ได้รับคะแนนความนิยมลดลงในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคมปีนี้ เนื่องจากประชาชนไม่มั่นใจว่า บราซิลจะได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงจาการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยในปีที่ผ่านมา ประชาชนกว่า 1 ล้านคนได้รวมตัวกันประท้วงบนท้องถนนทั่วประเทศเพื่อต่อต้านงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญไปกับการแข่งขันฟุตบอลคอนฟีเดเรชั่นส์ คัพ มากกว่างบประมาณในการให้บริการของภาคสาธารณะ

ประชาชนกว่า 60% ที่ไม่เห็นด้วยกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกระบุว่า โปรแกรมดังกล่าวได้ดึงเอางบประมาณไปจากการให้บริการของภาคสาธารณะ

ทั้งนี้ งบประมาณราว 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่รัฐบาลบราซิลใช้ไปกับการก่อสร้างและบูรณะสนามจัดการแข่งขัน เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากงบประมาณที่รัฐบาลเสนอต่อสมาคมฟุตบอลของประเทศในปี 2550 ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้ยืมจากธนาคารกลางและภาคเอกชน ในขณะที่นางรูสเซฟฟ์ระบุว่า “ฟุตบอลโลกไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องค่าใช้จ่าย แต่ได้นำมาซึ่งผลประโยชน์อันมหาศาลต่อประเทศ โดยจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของบราซิลเป็นจำนวนหลายพันล้านเรียล รวมทั้งการสร้างตำแหน่งงานเพิ่ม"

ทีมชาติ 5 อันดับแรกที่โดดเด่นที่สุดจากการจัดอันดับของฟีฟ่า

สเปนยังคงเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลกจากผลการจัดอันดับล่าสุดของฟีฟ่าด้วยสกอร์ 1485 แต้ม ตามมาด้วยเยอรมนี 1300 แต้ม และบราซิล 1242 แต้ม ส่วนทีมอันดับที่ 4 ตกเป็นของโปรตุเกสที่ได้รับการจัดอันดับเพิ่มขึ้น 1 อันดับและมีคะแนน 1189 แต้มและอันดับ 5 เป็นของอาร์เจนตินาได้รับคะแนน 1175 แต้ม

แต่อย่างไรก็ดี ผลการจัดอันดับของฟีฟ่าก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าทีมที่ดีที่สุดจะได้เป็นแชมป์หรือสามารถเอาชนะคู่แข่งที่อ่อนแอกว่าได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกีฬาฟุตบอลที่ไม่อาจจะคาดเดาผลการแข่งขันได้ นอกจากนี้ ทีมชาติสเปนซึ่งถึงแม้ว่าจะมีความแข็งแกร่งแต่ก็ไม่มีนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์เป็นตัวชูโรงอย่างบราซิลซึ่งมีเนย์มาร์ หัวหอกดาวรุ่งอันดับหนึ่งและความหวังของคนทั้งประเทศในการคว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศมาครองในปีนี้ ในขณะที่โปรตุเกสมีนักเตะที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาอย่างยาวนานอย่างคริสเตียโน่ โรนัลโด ที่พร้อมจะสร้างความเจ็บปวดให้กับทีมคู่แข่งได้ตลอดเวลา และลิโอเนล เมสซี่ ของอาร์เจนตินาที่กองหลังทีมคู่แข่งจะต้องจับตาตลอดเวลาที่เขามีบทบาทในสนาม

ทั้งนี้ ไม่ว่าทีมรักของคุณจะเป็นทีมใด และคุณจะทุ่มเทส่งกำลังแรงใจไปช่วยเหล่าบรรดาขุนพลทำศึกมากเพียงใด ทีมข่าว In Focus ก็ขอเตือนในเรื่องการนอนดึกและการเล่นการพนัน ซึ่งบางคนนอกจากจะเสียการเสียงานแล้วก็ยังอาจจะเกิดปัญหาหนี้สินติดตามมาอีกด้วย ขอให้สนุกกับฟุตบอลโลกครั้งนี้กันทุกคนนะครับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ