Spotlight: นายกฯออสซี่ยอมรับคุยโทรศัพท์กับ "ทรัมป์" ชี้เป็นการสนทนาที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา

ข่าวต่างประเทศ Friday February 3, 2017 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมัลคอล์ม เทิร์นบูล นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้เปิดเผยถึงการสนทนาทางโทรศัพท์กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เป็นการสนทนาที่เต็มไปด้วยความจริงใจและเปิดเผย เพียงแต่ใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมามาก หลังจากที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ออกมาแฉว่า ทรัมป์ได้แสดงความฉุนเฉียวต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงผู้ลี้ภัย ที่นายกรัฐมนตรีเทิร์นบูลลงนามร่วมกับอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปลายปีแล้ว โดยออสเตรเลียได้ขอให้สหรัฐรับผู้ลี้ภัยประมาณ 1,200 คน ที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวนอกชายฝั่งออสเตรเลีย ในประเทศนาอูรูและบนเกาะมานัสของปาปัวนิวกินี เข้าประเทศ

ข้อมูลเกี่ยวกับการสนทนาทางโทรศัพท์ของผู้นำทั้ง 2 ได้รั่วไหลออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา และถูกเปิดเผยเป็นครั้งโดยหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ซึ่งรายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า ระยะเวลา 25 นาทีที่เขาคุยโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีเทิร์นบูลนั้น เป็น"ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของวัน" โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตัดสายโทรศัพท์ทิ้งก่อน แม้มีการกำหนดเวลาสนทนากันไว้ 1 ชั่วโมง

นายกรัฐมนตรีเทิร์นบูลได้ออกมายอมรับเมื่อเช้าวันนี้ว่า การพูดคุยทางโทรศัพท์ในวันดังกล่าวนั้นเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และกล่าวว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็นคนที่มีบุคคลิกเด่นชัด โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์ทางวิทยุกับนายจอห์น ลอลส์ในวันนี้ว่า "ทรัมป์มีบุคลิกภาพที่ชัดเจนมาก และผมได้ทราบมาว่าเมื่อเช้านี้โฆษกของเขาได้อธิบายถึงการสนทนาในวันนั้นว่าเป็นไปด้วยความจริงใจ ส่วนผมบอกได้เลยว่ามันเป็นการพูดคุยที่เปิดเผยและตรงไปตรงมาที่สุด"

ด้านประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวีตแสดงความไม่พอใจข้อตกลงดังกล่าวต่อสาธารณชนเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า "คุณเชื่อไหม? รัฐบาลโอบามายอมที่จะรับผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายเป็นพันคนจากออสเตรเลีย เป็นไปได้ยังไง? ผมจะจัดการกับข้อตกลงโง่ๆนี้เอง!"

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเทิร์นบูลกล่าวกับสื่อของออสเตรเลียว่า ข้อตกลงผู้ลี้ภัยฉบับนี้จะดำเนินต่อไป แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะแสดงคำพูดที่แข็งกร้าวออกมา

นายเทิร์นบูล กล่าวว่า “อย่างที่ผมเคยบอก ประธานาธิบดีทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะเคารพข้อตกลงที่ได้รับการลงนามโดยประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเขา ซึ่งมันได้รับการยืนยันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ข้อตกลงนี้มีความสำคัญและจะต้องก้าวต่อไป เพราะมันจะช่วยให้เรามีตัวเลือกที่ปลอดภัยในการตั้งถิ่นฐานสำหรับคนจำนวนมากในนาอูรูและเกาะมานัส"

ทั้งนี้ สัปดาห์แห่งการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะขยายออกไปมากขึ้นในชั่วข้ามคืน เมื่อนายฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว ได้พูดชื่อของนายเทิร์นบูล ว่า “นายกรัฐมนตรีทรัมบูล (Trumbull)" ขณะที่ทำเนียบขาวเองยังคงไม่มีท่าทีว่าจะทำยังไงกับข้อตกลงนี้ต่อไป

การแสดงทัศนคติของประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้ ได้สร้างความตกตะลึงให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองทั่วโลก เพราะออสเตรเลียนับเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ และยังอยู่ในกลุ่มพันธมิตรเพื่อการสอดแนม 5 ชาติ หรือที่เรียกกันว่า "ปฎิบัติการหน่วยสอดแนม Five Eyes" ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา อีกด้วย

การพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และนายกรัฐมนตรีเทิร์นบูลในครั้งนี้ ถูกรายงานออกไปโดยสื่อใหญ่ทั่วโลก รวมทั้ง ซีเอ็นเอ็น และบีบีซี

อย่างไรก็ตาม อดีตนายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ ของออสเตรเลีย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสนทนาทางโทรศัพท์ของทั้ง 2 ผู้นำว่า เขาเชื่อว่า ความสัมพันธ์ของสหรัฐและออสเตรเลียมีความแน่นแฟ้นมากพอและยาวนานพอที่จะรับมือกับความวุ่นวายเล็กๆน้อยๆนี้ได้

“ความสัมพันธ์ของเรามีมายาวนานกว่า 100 ปี จริงๆแล้วครบ 100 ปีพอดีในปีนี้ ที่ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาได้ต่อสู้กันร่วมกันในแนวรบด้านตะวันตก (Western Front)" อดีตนายกรัฐมนตรีนายรอดด์ของออสเตรเลียกล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่เมืองอาบูดาบีเมื่อคืนนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ