แพทย์วินิจฉัย "บรูซ วิลลิส" ตำนาน "Die Hard" ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม

ข่าวต่างประเทศ Friday February 17, 2023 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครอบครัวของบรูซ วิลลิส อดีตนักแสดงระดับตำนานจากบทบาทของนายตำรวจนิวยอร์กในภาพยนตร์เรื่อง "Die Hard" เปิดเผยว่า คณะแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยอาการป่วยของบรูซครั้งล่าสุดซึ่งพบว่า บรูซป่วยด้วยโรคสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal Dementia - FTD)

ครอบครัวของบรูซ วิลลิสได้โพสต์บนเว็บไซต์ของสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองส่วนหน้าเสื่อม (The Association for Frontotemporal Degeneration - AFTD) เมื่อวันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) ว่า "ตั้งแต่ที่พวกเราประกาศการวินิจฉัยของบรูซเมื่อฤดูใบไม้ผลิปี 2565 ว่าเขาป่วยด้วยโรคอะเฟเซียหรือภาวะบกพร่องด้านการสื่อสาร ขณะนี้แพทย์ได้ทำการวินิจฉัยครั้งใหม่และพบว่าบรูซป่วยเป็นโรคสมองส่วนหน้าเสื่อม"

"ความยากลำบากในการสื่อสารเป็นหนึ่งในอาการของโรคที่บรูซกำลังเผชิญ ถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะเจ็บปวด แต่พวกเราก็รู้สึกโล่งใจที่เขาได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจนในที่สุดในขณะนี้" ครอบครัวของบรูซกล่าว

นักแสดงหญิง รูเมอร์ วิลลิส บุตรสาวคนโตของบรูส วิลลิสได้โพสต์คำวินิจัยฉัยดังกล่าวบนอินสตาแกรมของเธอ และมีเพื่อนพ้องในวงการบันเทิงเข้ามาโพสต์ข้อความให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงแอรอน พอล นักแสดงจากเรื่อง "Breaking Bad" ที่เขียนให้กำลังใจว่า "รักเธอมากนะเพื่อน ขอส่งกอดให้เธอและครอบครัวที่สวยงามของเธอ คุณพ่อเธอคือตำนานตลอดไป"

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 ครอบครัวของบรูซได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางอินสตาแกรมว่า บรูซจำเป็นต้องยุติอาชีพนักแสดง หลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคอะเฟเซีย ซึ่งข่าวดังกล่าวได้สร้างความตกใจให้กับแฟนภาพยนตร์ทั่วโลก โดยครอบครัวโพสต์คำแถลงดังกล่าวพร้อมโพสต์รูปของบรูซ และลงชื่อของทุกคนในครอบครัว ซึ่งรวมถึงรูเมอร์ วิลลิส, สก็อต วิลลิส, ทาลูลาห์ วิลลิส, มาเบิล วิลลิส และ เอเวลิน วิลลิส ลูกสาวของเขา รวมถึง เอมมา เฮมมิง วิลลิส ภรรยาคนปัจจุบัน และเดมี มัวร์ อดีตภรรยาของบรูซ

สำหรับโรค FTD นั้น คือภาวะที่มีการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทบริเวณสมองส่วนหน้าและส่วนขมับ โดย FTD เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคสมองเสื่อมที่พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนโรคอะเฟเซียเป็นภาวะบกพร่องด้านการสื่อสาร ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากความเสียหายของสมองในส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสื่อสาร ส่งผลให้การพูด การเขียน และการทำความเข้าใจภาษานั้นมีความบกพร่อง ซึ่งภาวะนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เมื่อผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือเลือดที่นำไปเลี้ยงในสมองหยุดชะงัก โดยโรคอะเฟเซียสามารถเกิดกับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบมากในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ