In Focusจับตา"ปานามา เปเปอร์": คลื่นยักษ์สะเทือนเกาะสวาท หาดสวรรค์ แดนเลี่ยงภาษี

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 7, 2016 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข่าวที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกเมื่อต้นสัปดาห์นี้ คงเป็นข่าวใดไปไม่ได้ นอกจากข่าวการรั่วไหลของข้อมูลลับจากบริษัท มอสแซค ฟอนเซกา ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมายในปานามา โดยเอกสารเหล่านี้ได้เปิดเผยวิธีการที่ผู้นำประเทศต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งนักธุรกิจ และคนเด่นคนดังทั่วโลก ใช้ซุกซ่อนทรัพย์สินในต่างประเทศ โดยอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟอกเงิน หรือหลีกเลี่ยงภาษี ด้วยวิธีตั้งบริษัทเงา หรือบริษัทกระดาษขึ้นมาบังหน้า

ล่าสุด ผลกระทบจากการเปิดโปงข้อมูลดังกล่าวได้ทำให้นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว หลังมีชื่อปรากฎอยู่ในเอกสารอื้อฉาวนี้

คอลัมน์ In Focus ของ InfoQuest จึงขอนำผู้อ่านมารู้จักเรื่องราวดังกล่าว และผลกระทบที่ตามมาต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ซึ่งก็มีชื่อคนดังติดอยู่ในเอกสารที่มีการเผยแพร่นี้ด้วย

*3 เม.ย.ได้ฤกษ์ สื่อพร้อมใจตีแผ่ข้อมูลช็อกโลก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 เม.ย.) สื่อมวลชนทั่วโลกพากันเผยแพร่เอกสารจำนวน 11.5 ล้านฉบับที่รั่วไหลออกมาจากบริษัทมอสแซค ฟอนเซกา ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมายในปานามา และมีสำนักงานทั่วโลกมากกว่า 40 แห่ง รวมทั้งในประเทศไทย โดยมีลูกค้าเป็นบริษัทต่างๆ มากกว่า 214,000 แห่ง

มอสแซค ฟอนเซกา เป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าสำหรับการจัดตั้งบริษัทเงาขึ้นมาบังหน้าธุรกรรมสีเทา โดยเลือกที่จะตั้งอยู่ในดินแดนที่อยู่นอกอาณาเขตของประเทศลูกค้า ซึ่งเป็นแดนสวรรค์สำหรับการหลบเลี่ยงภาษี หรือทำการฟอกเงิน ซึ่งได้แก่ หมู่เกาะเคย์แมน หรือเกาะบริติช เวอร์จิน หรือในปานามาเอง

เอกสารดังกล่าวได้เปิดโปงการทำธุรกรรมการเงินอย่างลับๆ ของนักการเมืองระดับสูงและบุคคลดังทั่วโลก ซึ่งบางส่วนได้แก่ คนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย, ครอบครัวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน, เครือญาติของอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคของอียิปต์, สมาชิกครอบครัวของนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย, บิดาของนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ, พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำของลิเบีย, ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย, ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชงโกของยูเครน, กษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย, ประธานาธิบดีมอริซิโอ มาครีของอาร์เจนตินา และนายกรัฐมนตรีซิกมุนเดอร์ เดวิด กุนน์ลอกสันของไอซ์แลนด์ รวมทั้งลีโอเนล เมสซี นักเตะแข้งทองของทีม “เจ้าบุญทุ่ม" บาร์เซโลนา และทีม “ฟ้าขาว" อาร์เจนตินา ตลอดไปจนถึง แจ็คกี ชาน หรือ เฉิน หลง ดาราภาพยนตร์ชื่อดัง

*มือดีแอบแฮกข้อมูล"ฟอนเซกา" ก่อนส่งต่อสื่อเยอรมัน

ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวนิรนามได้เริ่มส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่หนังสือพิมพ์เยอรมันชื่อ ซูดดอยช์ ไซตุง (Süddeutsche Zeitung) หรือ SZ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 จนล่าสุดถึงฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ หรือกว่า 40 ปี โดย SZ ได้แบ่งปันข้อมูลดังกล่าวกับสำนักข่าวกว่า 100 แห่ง และผู้สื่อข่าวราว 400 คนจาก 80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists - ICIJ) ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ออกไปพร้อมกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

*สโนว์เดนชิดซ้าย วิกิลีกส์หลีกขวา เมื่อเจอ"ปานามา เปเปอร์"

การรั่วไหลของข้อมูลในครั้งนี้ ซึ่งเรียกกันว่า "ปานามา เปเปอร์" หรือ "ปานามา ลีกส์" ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดที่สื่อมวลชนทั่วโลกทำการเผยแพร่ โดยมากกว่าเมื่อครั้งที่นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานชั่วคราวของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ออกมาเปิดโปงเมื่อปี 2013 และมากกว่าข้อมูลลับเกี่ยวกับการสนทนาทางการทูตขนาด 1.7 กิกะไบต์ที่เว็บไซต์วิกิลีกส์เผยแพร่เมื่อปี 2010

นอกจากนี้ หากนับจำนวนหน้าเอกสารแล้ว “ปานามา เปเปอร์" ก็มากที่สุดเช่นกันด้วยจำนวนหน้าเอกสาร 195 ล้านหน้า เทียบกับข้อมูลที่นายสโนว์เดนเปิดโปง 4.5 ล้านหน้า ส่วนวิกิลีกส์อยู่ที่ 127,500 หน้า และเหตุการณ์แฉข้อมูลลับด้านกลาโหมของสหรัฐเมื่อปี 1971 อยู่ที่ 7,000 หน้า

เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยให้การเผยแพร่ข้อมูลลับจาก"ปานามา เปเปอร์" เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มิฉะนั้นแล้ว การเผยแพร่ข้อมูลความจุมากถึง 2.6 เทราไบต์ ประกอบด้วยไฟล์ข้อมูลมากถึง 11.5 ล้านไฟล์ ซึ่งรวมถึงอีเมล 4.8 ล้านฉบับ และไฟล์รูปอีก 1 ล้านรูป รวมทั้งเอกสาร 195 ล้านหน้า จะต้องใช้รถบรรทุกเกือบ 1,000 คันเพื่อขนย้ายเอกสารบันทึกข้อมูลดังกล่าว

*ลูกค้าคนดังทั่วโลกแห่ใช้บริการฟอกขาวของ"ฟอนเซกา"

SZ ระบุว่า จากการตรวจสอบเอกสารลับของมอสแซค ฟอนเซกา พบว่า ผู้นำประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวน 12 คน, นักการเมือง, นักฟุตบอลชื่อดัง รวมทั้งสมาชิกแก๊งมาเฟียราว 200 คน อีกทั้งสถาบันการเงินขนาดใหญ่ 350 แห่ง และนักธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไปอีกหลายแสนคน ต่างก็ปรากฎอยู่ในบัญชีรายชื่อลูกค้าของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายแห่งนี้

ถึงแม้การเป็นเจ้าของบริษัทที่ตั้งในต่างประเทศไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ SZ ตั้งข้อสังเกตุว่า การปกปิดตัวตนของเจ้าของที่แท้จริงของบริษัทเหล่านี้ ถือเป็นภารกิจหลักของมอสแซค ฟอนเซกา ในการให้บริการแก่ลูกค้าส่วนใหญ่

เอกสารลับดังกล่าวได้เปิดโปงเครือข่ายฟอกเงินที่พัวพันไปถึงคนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โดยกระทำผ่านธนาคารรอสสิยาซึ่งถูกสหรัฐ และสหภาพยุโรปคว่ำบาตร หลังจากที่รัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นดินแดนของตน โดยเงินทุนเหล่านี้ถูกยักย้ายถ่ายโอนผ่านบริษัทต่างชาติหลายแห่ง ในจำนวนนั้นเป็นบริษัท 2 แห่งของเซอร์เก โรลดูจิน เพื่อนสนิทของปธน.ปูติน ทางด้านนายกรัฐมนตรีซิกมุนเดอร์ เดวิด กุนน์ลอกสันแห่งไอซ์แลนด์และภริยาได้ซุกซ่อนเงินลงทุนหลายล้านดอลลาร์ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน โดยทำธุรกรรมผ่านบริษัทที่ตั้งในต่างประเทศแห่งหนึ่ง เอกสารระบุว่า นายกุนน์ลอกสัน และภริยาซื้อบริษัท วินทริสเอาไว้เมื่อปี 2007 และไม่ได้แจ้งผลประโยชน์ที่ได้รับระหว่างการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อรัฐสภาเมื่อปี 2009 ต่อมาอีก 8 เดือนเขาได้ขายหุ้นวินทริสให้แก่ภริยา ในราคาเพียงหุ้นละ 1 ดอลลาร์ ขณะที่รัฐสภาไอซ์แลนด์ตั้งข้อสงสัยว่านายกรัฐมนตรีอาจใช้บริษัทวินทริสเป็นเครื่องมือซุกซ่อนทรัพย์สินหลายล้านดอลลาร์ไว้ที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน เอกสารลับชุดนี้ยังได้ระบุชื่อบริษัทต่างชาติที่มีความเชื่อมโยงกับครอบครัวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งมีนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเข้มงวดในจีน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยว่า ลีโอเนล เมสซี และบิดาของเขาเป็นเจ้าของบริษัท เมกา สตาร์ เอนเตอร์ไพรส์ อิงค์ ในปานามา ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาบังหน้า ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยถูกทางการสเปนตรวจสอบการจ่ายภาษี

*ICIJ วอนผู้นำทั่วโลกจับมือต้านโกงภาษี

ICIJ แถลงผ่านเว็บไซต์ว่า ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า "ธนาคาร สำนักงานกฎหมาย และบริษัทต่างชาติหลายแห่ง ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อรับประกันว่าลูกค้าของพวกเขาจะไม่เข้าไปพัวพันกับบริษัทที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษี หรือการคอรัปชั่นทางการเมือง"

"เอกสารดังกล่าวยังช่วยเปิดโปงพฤติกรรมของพวกนายหน้าคนกลางที่พยายามปกป้องตนเองและลูกค้าด้วยการปกปิดธุรกรรมการเงินที่ต้องสงสัย และในบางครั้งได้ขัดขวางกระบวนการสอบสวน โดยลงวันที่ย้อนหลังในเอกสาร หรือทำลายเอกสาร"

นายเจอราร์ด ไรล์ ผู้อำนวยการ ICIJ กล่าวว่า ผู้นำทั่วโลกจะต้องจับมือกันในการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อแหล่งหลบเลี่ยงภาษี

“เราได้เห็นว่า OECD และ EU พยายามควบคุมการเข้าลงทุนในแหล่งดังกล่าวแล้ว แต่ทุกครั้งที่พวกเขาสร้างกฎใหม่ออกมา ประเทศเหล่านี้ก็จะหาทางหลีกเลี่ยงกฎเสมอ ซึ่งเรื่องนี้จะไม่จบสิ้น จนกว่าทั่วโลกจะพร้อมใจกันดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม".

นอกเหนือจากการหลบเลี่ยงภาษีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความกังวลก็คือ บางประเทศ เช่น เกาหลีเหนือ อาจอาศัยบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายในการจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศขึ้นมาบังหน้ากิจกรรมผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์

*บริษัทต้นตอปัญหาครวญขอความเห็นใจ หลังตกเป็นเหยื่อแฮกเกอร์

บริษัทมอสแซค ฟอนเซกา เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ตกเป็นเหยื่อของพวกแฮกเกอร์ที่ทำการเจาะข้อมูลจากภายนอกบริษัท และบริษัทได้ทำการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานอัยการแล้ว

นายรามอน ฟอนเซกา ผู้ก่อตั้งร่วมของมอสแซค ฟอนเซกา กล่าวว่า บริษัทไม่ได้ทำสิ่งใดที่ผิดกฎหมาย และการดำเนินงานของบริษัทก็ถุกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ทางบริษัทก็ไม่เคยทำลายเอกสารของลูกค้า หรือช่วยผู้ใดในการหลบเลี่ยงภาษี หรือฟอกเงิน

นายฟอนเซกายังกล่าวว่า เอกสารที่สื่อต่างๆเผยแพร่ออกไป ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อบริษัท

นายฟอนเซกาตำหนิการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่มีการสอดใส่อารมณ์ ซึ่งเขาเกรงว่าจะทำให้คู่แข่งฉวยโอกาสสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ หลังเกิดกรณีอื้อฉาวดังกล่าว

"มันไม่แฟร์เลยสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น โดยถ้าเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นกับบริษัทแห่งหนึ่งในรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐ รับรองเลยว่าจะไม่มีใครว่าอะไร แต่เพราะนี่เป็นปานามา มันก็เลยตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ"

นายฟอนเซกากล่าวว่า "การรั่วไหลของข้อมูลบริษัทในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องหนอนบ่อนไส้ที่พนักงานบางคนของบริษัททำ แต่เกิดจากการที่ระบบของบริษัทถูกแฮกจากภายนอก"

"ความผิดเดียวที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือการแฮกข้อมูล แต่กลับไม่มีใครพูดถึง" เขากล่าว

นายฟอนเซการะบุว่า การที่ปานามาประสบความสำเร็จในการเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจธนาคารออฟชอร์ ได้สร้างความอิจฉาแก่คู่แข่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรง และการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากทางการ หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลก

*"ฟอนเซกา"ยันไม่อาจรับผิดชอบการกระทำของลูกค้า

ทางด้านมอสแซค ฟอนเซกายืนยันว่า ทางบริษัทได้ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสากล เพื่อให้มั่นใจว่า ลูกค้าของบริษัทไม่ได้ทำการฟอกเงิน, หลีกเลี่ยงภาษี, ให้เงินทุนแก่กลุ่มก่อการร้าย หรือทำการอื่นใดที่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ทางบริษัทระบุว่าไม่สามารถรับผิดชอบต่อกิจกรรมใดๆของลูกค้า ถึงแม้บริษัทได้ทุ่มเทในการทำโครงสร้างที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อขายให้กับลูกค้าที่เป็นตัวกลาง ซึ่งได้แก่ ธนาคาร นักกฎหมาย นักบัญชี และกองทุนทรัสต์ แต่ลูกค้าเหล่านี้ก็มีลูกค้าขั้นสุดท้ายที่ทางบริษัทไม่รู้จัก

นายฟอนเซกายังเปิดเผยว่า การตั้งบริษัทออฟชอร์ขึ้นมาแห่งหนึ่งจะมีค่าใช้จ่ายราว 700-1,000 ดอลลาร์ ซึ่งเงินส่วนใหญ่จากจำนวนดังกล่าวเป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐบาล โดยทางบริษัทได้จัดตั้งบริษัทประเภทนี้มาแล้ว 250,000 แห่งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

*ปานามา=ฟอกเงิน "เพราะเรานั้นคู่กัน"

ปานามาขึ้นทำเนียบเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการฟอกเงินตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อนายพลมานูเอล นอริเอกา ซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการในสมัยนั้น ปูพรมแดงต้อนรับบรรดาเจ้าพ่อค้ายาเสพติดจากโคลัมเบีย และหลังจากนั้น ปานามายังคงเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากมีที่ตั้งประเทศอยู่ที่รอยต่อระหว่างอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ส่งผลให้เศรษฐกิจปานามาพุ่งขึ้นเฉลี่ยปีละ 8.5% เป็นเวลาถึง 10 ปี โดยได้ปัจจัยหนุนจากกระแสเงินที่ไหลทะลักเข้าประเทศ ทำให้กลายเป็นนครดูไบแห่งละตินอเมริกา

นายฮวน คาร์ลอส วาเรลา ประธานาธิบดีปานามา ให้สัญญาว่า เขาจะให้ความร่วมมือกับทุกประเทศในการสืบสวนข้อมูลลับจาก"ปานามา เปเปอร์" ขณะที่สำนักงานอัยการระบุว่าจะพิจารณารายละเอียดของข้อมูลดังกล่าวเพื่อดูว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นหรือไม่

นายวาเรลากล่าวว่า เขาจะไม่ผ่อนปรนต่อการก่ออาชญากรรมทางการเงิน โดยสภาคองเกรสของปานามาได้ผ่านกฎหมายควบคุมภาคอุตสาหกรรมจำนวนสิบกว่ากลุ่มในปีที่แล้ว นับตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงกาสิโน ซึ่งส่งผลให้คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force) หรือ FATF ถอดปานามาออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงในการฟอกเงิน และให้เงินทุนสนับสนุนการก่อการร้าย

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างนายวาเรลา และนายฟอนเซกาได้สร้างความกังขาต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลปานามาในการจัดระเบียบให้เกิดความโปร่งใส โดยนายฟอนเซกาเป็นประธานของพรรคปานาเมนิสตา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และเขาเป็นที่ปรึกษาพิเศษของคณะรัฐมนตรีของนายวาเรลา แต่ต่อมา เขาได้ลาออกจากตำแหน่ง หลังทางการบราซิลบุกจู่โจมเข้าตรวจค้นสำนักงานของมอสแซค ฟอนเซกาในบราซิลเพื่อหาหลักฐานในการสืบสวนข้อหาจ่ายสินบนให้แก่นักการเมืองจากบริษัทที่ทำธุรกิจกับบริษัทปิโตรบราสของรัฐบาลบราซิล

นอกจากนี้ นายวาเรลายังถูกกล่าวหาในระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2014 ว่าเขาได้หลบเลี่ยงภาษี และรับเงินใต้โต๊ะจากธุรกิจพนันที่ผิดกฎหมายในสหรัฐ

มีการมองกันว่าบทบาทของปานามาในการเป็นแหล่งซุกเงินผิดกฎหมายจะยังคงอยู่ต่อไป เนื่องจากนายธนาคาร และนักการเมืองในปานามาต่างก็ไม่ได้เกรงกลัวต่อผู้พิพากษาและอัยการที่ได้ขึ้นชื่อเรื่องการคอรัปชั่น

*นักวิเคราะห์ชี้"ปานามา เอฟเฟคท์"ไม่สะเทือนผู้นำหลังม่านเหล็ก

การเปิดเผย"ปานามา เปเปอร์" ได้ทำให้ประเทศทั่วโลกตื่นตัวต่อการแก้ปัญหาการฟอกเงิน และหลบเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะการตรวจสอบผู้ที่มีชื่ออยู่ในเอกสารดังกล่าว เพื่อดูว่ามีพฤติกรรมในการซุกเงินผิดกฎหมายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นายซิกมุนเดอร์ เดวิด กุนน์ลอกสัน นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว โดยเขาตกเป็นเหยื่อรายแรกที่สังเวยการเปิดเผย"ปานามา เปเปอร์" แต่นักวิเคราะห์ระบุว่า การรั่วไหลของเอกสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีระบบกฎหมายที่แข็งแกร่ง และมีการตรวจสอบนักการเมืองอย่างเข้มงวด รวมทั้งมีการเปิดกว้างต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเท่านั้น แต่สำหรับประเทศที่มีการปิดกั้นสื่อ, จำกัดการรับรู้ข้อมูลของสาธารณชน รวมทั้งควบคุมการแสดงออกของประชาชนอย่างเข้มงวด ข่าวอื้อฉาวจาก"ปานามา เปเปอร์"ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใดต่อผู้นำของประเทศดังกล่าว เช่น จีนและรัสเซีย ซึ่งก็น่าจะทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินไม่รู้สึกทุกข์ร้อนที่ตัวเองมีชื่อปรากฎในเอกสารนี้

*เมืองน้ำหอมขึ้นแบล็กลิสต์ปานามาทันควัน หลังสื่อปูดข้อมูลรั่ว

ทางด้านนายมิเชล ซาแปง รมว.คลังฝรั่งเศส กล่าวว่า รัฐบาลจะนำปานามาใส่กลับในรายชื่อประเทศที่ถือเป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษี

ก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสได้ถอดปานามาออกจากรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในปี 2012 หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการหลบเลี่ยงภาษี

ขณะนี้ รายชื่อประเทศที่เป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษีของฝรั่งเศสมีอยู่ 6 ประเทศคือ บรูไน, กัวเตมาลา, หมู่เกาะมาร์แชล, นัวรู, นิอู และบ็อตซาวานา ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการเข้มงวดเมื่อมีการทำธุรกรรมทางการเงินกับประเทศดังกล่าว

การดำเนินการของฝรั่งเศสมีขึ้น หลังมีการเปิดเผย"ปานามา เปเปอร์" ซึ่งมีการแฉรายชื่อคนดังทั่วโลกที่พัวพันกับการฟอกเงิน และเลี่ยงภาษีด้วยความช่วยเหลือของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายในปานามา

อย่างไรก็ดี นายอัลวาโร โดลแมน หัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดีฮวน คาร์ลอส วาเรลา กล่าวสวนกลับว่า รัฐบาลปานามาจะทำการตอบโต้ด้วยวิธีการอย่างเดียวกันต่อฝรั่งเศส หรือประเทศอื่นๆที่จะทำตามฝรั่งเศส

*คนไทยในโผปัดพัลวัน อ้างไม่มีเอี่ยวบริษัทกฎหมายอื้อฉาว

สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้น เว็บไซต์ของ ICIJ ระบุรายชื่อลูกค้าของบริษัทมอสแซค ฟอนเซกา ที่เป็น Officer และ Master Client ถึง 780 คน โดยมีรายชื่อทั้งที่เป็นคนไทย และชาวต่างชาติ

ICIJ ให้นิยามคำว่า Officer หมายถึง บุคคลหรือบริษัทซึ่งมีบทบาทสำคัญในบริษัทหรือกองทุนที่มีการก่อตั้งในต่างประเทศ ส่วน Master Client หมายถึง คนกลางซี่งช่วยลูกค้าในการก่อตั้งบริษัทหรือกองทุนในต่างประเทศ

ICIJ ยังได้ระบุรายชื่อ Offshore Entity จำนวน 50 แห่ง โดยให้นิยามว่า หมายถึง บริษัท, ทรัสต์ หรือกองทุนที่ตั้งขึ้นในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ

นอกจากนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวยังได้เปิดเผยรายละเอียดสถานที่ ซึ่งเป็นที่อยู่ในประเทศไทยของทั้ง Officer, Master Client และ Offshore Entity

อย่างไรก็ดี ICIJ ได้หมายเหตุแนบท้ายรายชื่อลูกค้าของบริษัทมอสแซค ฟอนเซกาว่า ICIJ ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะแนะนำ หรือบ่งชี้ว่า บุคคล, บริษัท หรือกองทุนที่ปรากฎชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของ ICIJ ได้กระทำผิดกฎหมาย หรือกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมแต่อย่างใด

ส่วนชื่อคนไทย 21 คนที่ปรากฎในเว็บไซต์นี้ มีทั้งนักธุรกิจ, ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์, ครอบครัวของนักการเมืองชื่อดัง รวมทั้งนักแต่งเพลงเพื่อชีวิต โดยหลายคนแสดงความแปลกใจที่มีชื่อเป็นลูกค้าของมอสแซค ฟอนเซกา เนื่องจากไม่เคยใช้บริการแต่อย่างใด

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ตนเองไม่เคยรู้จัก ติดต่อ หรือใช้บริการใดๆ จากมอสแซค ฟอนเซกา รวมทั้งไม่เคยมีนิติกรรมใดๆ ในปานามา

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือเลี่ยงภาษี ซึ่งคาดว่าอาจเป็นการเข้าใจผิด โดยอาจถูกเชื่อมโยงกับการที่ตนเคยมีบัญชีส่วนบุคคล กับธนาคารต่างประเทศ และได้ปิดบัญชีไปแล้ว แต่ธนาคารนั้นใช้สำนักงานกฎหมายดังกล่าวเป็นผู้ดูแล

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตที่ปรึกษาพิเศษกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ตนเองรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมถึงมีรายชื่อปรากฏอยู่ ทั้งที่ไม่มีการทำธุรกรรมการเงินที่ต่างประเทศ ไม่เคยจดทะเบียนหรือไปหุ้นกับบุคคลอื่นตั้งบริษัท รวมทั้งไม่เคยให้ใครยืมชื่อไปทำธุรกรรมใดๆ

นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง และคิดว่าเอกสารดังกล่าวไม่มีหลักฐานแต่อย่างใด

*นายกฯจี้สอบ 21 คนไทยมีชื่อติดโผ จับตาปปง.แถลงข่าวพรุ่งนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเอกสารลับปานามาว่า กำลังให้สอบสวนว่ามีรายชื่อคนไทยเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ หากเป็นเรื่องจริงถือว่าดี เพราะมีคนชี้เป้า แต่หลักฐานครั้งนี้ออกมาจากสื่อมวลชน ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ถ้าผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ทางด้านสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะจัดการแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ (8 เม.ย.) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม 501 สำนักงาน ปปง. กรณีปรากฎชื่อคนไทย 21 คนในเอกสารลับของบริษัท มอสแซค ฟอนเซกา ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายในปานามา ที่อาจพัวพันการฟอกเงิน หรือหลบเลี่ยงภาษี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ