In Focusส่องโบรชัวร์เที่ยวดวงจันทร์ของ "สเปซเอ็กซ์" และลูกทัวร์รายแรก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 19, 2018 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวานนี้ได้เกิดข่าวใหญ่ฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ได้ประกาศชื่อลูกค้าที่จะกลายเป็นผู้โดยสารรายแรกในประวัติศาสตร์ที่จะเดินทางไปดวงจันทร์ด้วยทุนของตนเอง บุคคลผู้นี้มีชื่อว่านายยูซากุ มาเอซาวา มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น

การประกาศดังกล่าวหมายความว่า ในอนาคตข้างหน้า การเดินทางเยือนดวงจันทร์ที่เราแหงนมองอยู่ทุกคืนนั้นอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากขึ้น เพียงแค่กดซื้อตั๋ว ขึ้นเครื่อง และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสุดยอดการผจญภัยครั้งหนึ่งของชีวิต โดยมนุษย์คนสุดท้ายที่ได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์นั้นมีชื่อว่ายูจีน เคอร์แนน นักบินอวกาศชาวอเมริกันขององค์การนาซ่า ซึ่งเท้าแตะพื้นดวงจันทร์เมื่อปี 2515

*ส่องโปรแกรมทัวร์ที่แพงที่สุดในโลก

สเปซเอ็กซ์เปิดเผยว่า โปรแกรมเที่ยวดวงจันทร์ดังกล่าวจะเดินทางด้วยจรวดบิ๊กฟอลคอน หรือที่มีชื่อย่ออย่างเป็นทางการว่า จรวด BFR ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสานฝันในการท่องอวกาศให้เป็นจริงได้ โดยสเปซเอ็กซ์มีแผนส่งจรวดนี้ขึ้นฟ้าในปี 2566 หรืออีกแค่เพียง 5 ปีข้างหน้านี้เท่านั้น

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้จรวด BFR ยังไม่ได้สร้างขึ้นเป็นรูปร่าง โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาเพียงเท่านั้น และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 5 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่นายอีลอน มัสก์ เองก็ได้ออกมาเตือนว่า โปรแกรมทัวร์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ยังไม่มีอะไรแน่นอน 100% นอกจากนี้ โปรแกรมเยือนดวงจันทร์ดังกล่าวเป็นการส่งจรวดวนรอบดวงจันทร์เท่านั้น หรือคล้าย ๆ กับที่เรียกกันว่า "ชะโงกทัวร์" ซึ่งผู้โดยสารทำได้เพียงมองดวงจันทร์จากระยะใกล้ ไม่ได้มีโอกาสเหยียดเท้าแตะพื้นดวงจันทร์แต่อย่างใด

กวินน์ ชอตเวลล์ ประธานบริษัทสเปซเอ็กซ์ ได้แสดงความคาดหวังว่า สเปซเอ็กซ์อาจทดสอบการทำงานของจรวดดังกล่าวเบื้องต้นได้ในปีหน้า และคาดว่าจะเข้าสู่วงโคจรเป็นครั้งแรกได้ในปี 2563 จากนั้นจะทยอยทำการทดสอบแบบยังไม่มีมนุษย์ ก่อนส่งลูกค้ารายแรกเยือนดวงจันทร์ในอีก 3 ปีหลังจากนั้น ทว่าประธานบริษัทสเปซเอ็กซ์เองก็ได้ออกมาแสดงความไม่มั่นใจเช่นกันว่าบริษัทจะคืบหน้าตามกำหนดการดังกล่าวหรือไม่

ในส่วนของการพัฒนาจรวด BFR นั้น นายอีลอน มัสก์ ได้เปิดเผยดีไซน์ล่าสุดของจรวดดังกล่าว ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งที่ 3 ในรอบ 3 ปีแล้ว เนื่องจากนายมัสก์ไม่ชอบรูปลักษณ์ของจรวดดีไซน์ก่อน ๆ ดีไซน์ที่เปิดเผยครั้งล่าสุดนี้ไม่น่าจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่แล้ว โดยอาจมีการแก้ไขรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น นอกจากนี้ เมื่อดูในตัวโปรแกรมเอง สเปซเอ็กซ์ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว นายมัสก์ได้ประกาศแผนส่งลูกค้า 2 รายขึ้นจรวดที่มีชื่อว่าฟอลคอน เฮฟวี่ วนรอบดวงจันทร์ ซึ่งกำหนดการเดิมคือต้องส่งจรวดดังกล่าวขึ้นฟ้าในต้นปีนี้ ทว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สเปซเอ็กซ์ได้หันไปพัฒนาจรวด BFR นี้แทน และแผนส่งฟอลคอน เฮฟวี่ วนรอบดวงจันทร์ ไม่เคยเกิดขึ้น

แม้ตารางทัวร์ยังไม่แน่นอน แต่ก็ดูมีความคืบหน้ามากพอที่ทำให้มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นผู้นี้กล้าควักเงินออกจากกระเป๋าได้ โดยนายอีลอน มัสก์ ไม่ได้ออกมาเปิดเผยว่านายยูซากุ มาเอซาวา ต้องเสียเงินเท่าใดเพื่อเดินทางไปดวงจันทร์ บอกได้แค่เพียงว่านายมาเอซาวาได้จ่ายเงินดาวน์เพื่อเหมาทั้งเที่ยวบินแล้ว ขณะเดียวกัน นายมัสก์ได้กล่าวขอบคุณนายมาเอซาวาที่ให้ความไว้วางใจตน และเงินของนายมาเอซาวานั้นเป็นเงินลงทุนก้อนสำคัญที่จะทำให้ความฝันในการท่องดวงจันทร์ใกล้ความจริงยิ่งขึ้น

นายมัสก์ กล่าวว่า การที่นายมาเอซาวาเสียสละเงินของตนเองในครั้งนี้ ท้ายที่สุดจะช่วยให้ประชาชนทั่วไปเข้าใกล้ความฝันในการท่องอวกาศมากขึ้น ขณะที่นายมาเอซาวา เปิดเผยว่า ตนรักดวงจันทร์มาตั้งแต่ยังเล็ก และดวงจันทร์เป็นบ่อกำเนิดจินตนาการของตน ดังนั้นเขาจึงไม่ยอมพลาดโอกาสที่จะได้เห็นดวงจันทร์ใกล้ ๆ

*"ยูซากุ มาเอซาวา" คือใคร

นับจนถึงเมื่อวานนี้ ชื่อของนายยูซากุ มาเอซาวา คงไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนักในวงกว้าง แต่การออกมาประกาศของสเปซเอ็กซ์ทำให้เขาเป็นที่จับตาของสื่อทั่วโลก

นายยูซากุ มาเอซาวา วัย 42 ปี เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 18 ของญี่ปุ่นจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ส่วนตัวราว 2.9 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท เขาเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์แฟชั่นออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นอย่าง Zozotown

นายมาเอซาวา อาจมีจุดเริ่มต้นที่แหวกแนวจากมหาเศรษฐีรายอื่น ๆ ของญี่ปุ่นไปเสียบ้าง โดยเขาเริ่มสร้างชื่อให้กับตนเองในฐานะมือกลองของวงดนตรีแนวฮาร์ดคอร์พังค์ชื่อ Switch Style ด้วยความมีหัวนักธุรกิจ นายมาเอซาวาจึงได้ก่อตั้งบริษัทเป็นของตนเองในชื่อ Start Today เพื่อขายซีดีและแผ่นเสียงหายาก ทำให้ขณะนั้นเขาต้องเดินทางแสดงดนตรีกับวงไปพร้อมๆกับบริหารบริษัทของตนเอง จากนั้นธุรกิจที่เขาก่อตั้งขึ้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ส่งผลให้เขาต้องเลือกว่าจะอยู่กับวงหรือบริษัท ซึ่งท้ายที่สุดเขาได้เลือกออกจากวงเพื่อดูแลบริษัทอย่างเต็มตัวในวัยประมาณ 25-26 ปี ก่อนที่จะก่อตั้งเว็บไซต์ Zozotown ในวัยไม่ถึง 30 จนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้

นอกเหนือจากการเป็นอดีตมือกลองวงพังค์และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว นายมาเอซาวายังเป็นนักสะสมศิลปะตัวยงอีกด้วย ซึ่งชื่อของเขาเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงงานศิลปะของโลก เพราะเขาเคยทุ่มเงินกว่า 110 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อผลงานศิลปะเพียงชิ้นเดียว โดยเป็นผลงานของฌอง-มิเชล บาสเกีย จิตรกรผิวสีชาวอเมริกัน ความหลงใหลผลงานศิลปะในตัวนายมาเอซาวานั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขายอมเสียเงินมหาศาลเพื่อเดินทางไปดวงจันทร์

*เหมาทัวร์พาศิลปินเที่ยวดวงจันทร์ฟรี

สำหรับโปรแกรมทัวร์นี้ นายมาเอซาวาไม่ได้ไปเพียงคนเดียว และด้วยความที่เขามีใจรักศิลปะ เศรษฐีผู้นี้จึงใจดียอมควักกระเป๋าพาศิลปินอีก 6-8 คนไปเที่ยวดวงจันทร์ด้วย ขณะนี้นายมาเอซาวายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะพาใครไปด้วย โดยเขาบอกแค่ว่า ศิลปินที่จะถูกเลือกนั้นเป็นได้ทั้งจิตรกร ช่างแกะสลัก หรือแม้กระทั่งช่างภาพ นักดนตรี ผู้กำกับภาพยนตร์ แฟชั่นดีไซเนอร์ และสถาปนิก

ระหว่างการแถลงข่าวของสเปซเอ็กซ์เมื่อวานนี้ นายมาเอซาวาได้ผุดโปรเจกต์ #dearmoon ขึ้น ซึ่งเป็นโปรเจกต์สร้างสรรค์งานศิลปะของตนและทีมศิลปินผู้ถูกเลือก โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยู่บนโลก นายมาเอซาวาจะออกเงินค่าทริปให้ศิลปินกลุ่มนี้ทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อศิลปินเหล่านี้เดินทางกลับโลกแล้ว พวกเขาต้องสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแบบฉบับของตนเองที่สะท้อนถึงประสบการณ์ของตนในทริปท่องดวงจันทร์

นายมาเอซาวาได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการพาศิลปินไปเที่ยวกับเขาว่า เมื่อตนมองผลงานของฌอง-มิเชล บาสเกีย ที่ซื้อมาแล้ว ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า หากฌอง-มิเชล บาสเกีย มีโอกาสท่องอวกาศแล้ว ผลงานศิลปะของศิลปินผู้นี้จะยอดเยี่ยมเพียงใด ขณะเดียวกัน ตนไม่ต้องการเดินทางเยือนดวงจันทร์เพียงลำพัง และขอใช้โอกาสนี้แบ่งปันประสบการณ์อันล้ำค่าร่วมกับผู้อื่น โดยนายมาเอซาวาได้กล่าวเชิญชวนว่าที่ศิลปินที่จะร่วมทริปกับตนว่า "ถ้าผมติดต่อไป หวังว่าคุณจะตอบตกลงนะครับ"

*แล้วเมื่อใดกันที่คนทั่วไปจะท่องอวกาศได้

แม้ทั้งสเปซเอ็กซ์และตัวนายมาเอซาวาเองไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าทริปเที่ยวดวงจันทร์ครั้งนี้ใช้เงินเท่าใด แต่เมื่อเทียบกับทุนสร้าง 5 พันล้านดอลลาร์แล้ว ค่าบัตรขึ้นเครื่องนี้อาจสูงแตะหลักหลายร้อยล้านดอลลาร์ ซึ่งน่าจะมีแต่มหาเศรษฐีที่มั่งคั่งมากๆ ถึงจะจ่ายได้ แล้วเมื่อใดกันที่โอกาสนี้จะเป็นไปได้สำหรับบุคคลที่อาจไม่ได้รวยเท่า

นอกเหนือจากบริษัทสเปซเอ็กซ์แล้ว ยังมีอีก 2 บริษัทที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งลูกค้าท่องอวกาศด้วยเช่นกัน ได้แก่บริษัทเวอร์จิ้น กาแลคติก ของนักธุรกิจชื่อดังอย่างนายริชาร์ด แบรนสัน และบริษัทบลู ออริจิน สตาร์ทอัพนำเที่ยวอวกาศของเจ้าของ Amazon.com อย่างนายเจฟฟ์ เบซอส

อย่างไรก็ดี บริษัททั้งสองนี้มีแผนนำเที่ยวอวกาศที่ยังไม่ถึงระดับเข้าวงโคจร (Suborbital) เท่านั้น เมื่อเทียบกับแผนการของสเปซเอ็กซ์ที่ต้องการส่งมนุษย์ถึงวงโคจร โดยมีดาวอังคารเป็นเป้าหมายสูงสุด การที่เวอร์จิ้น กาแลคติก และบลู ออริจิน มีเป้าหมายอยู่ที่ Suborbital นั้นทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีท่องอวกาศดูเป็นไปได้มากกว่าของสเปซเอ็กซ์ ขณะที่ทำให้ผู้โดยสารมีประสบการณ์ท่องอวกาศที่น่าประทับใจไม่แพ้กัน ซึ่งผู้โดยสารจะสัมผัสได้กับสภาพไร้น้ำหนักและเห็นเส้นโค้งของโลก อันเป็นประสบการณ์ที่คนไม่กี่ร้อยคนจากทั้งหมดกว่า 7 พันล้านคนทั่วโลกจะมีได้

ด้านเวอร์จิ้น กาแลคติก ดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้มากกว่า จากความสำเร็จในการทดสอบยานอวกาศ SpaceShipTwo เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ประสบความล้มเหลวจนเสียหายยับเยินเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว และมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะส่งมนุษย์ขึ้นอวกาศได้ในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยเวอร์จิ้น กาแลคติก ได้จำหน่ายบัตรขึ้นยานอวกาศนี้ไปแล้วถึง 700 ใบ ใบละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.1 ล้านบาท ส่วนในฝั่งของบลู ออริจิน ได้ประกาศแผนจำหน่ายบัตรในปีหน้า แต่ไม่ได้เปิดเผยราคาบัตรแต่อย่างใด ขณะที่สื่อหลายแหล่งคาดการณ์ว่าราคาน่าจะอยู่ในช่วง 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.5 ล้านบาท

แม้ราคาบัตรจากบริษัททั้งสองจะถูกลงเมื่อเทียบกับของสเปซเอ็กซ์ แต่ก็ยังเป็นราคาที่สูงสำหรับบุคคลทั่วไป ถึงกระนั้น ความฝันในการท่องอวกาศได้กลายเป็นเรื่องที่ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นสำหรับบุคคลที่พอมีฐานะ แม้ไม่ได้ติดอันดับบุคคลร่ำรวยเป็นระดับพันล้านดอลลาร์เหมือนกับนายมาเอซาวา โดยในช่วงไม่ถึง 5 ปีข้างหน้านี้ เราอาจมีโอกาสได้เห็นชาวไทยร่วมทริปท่องอวกาศไปกับเวอร์จิ้น กาแลคติก หรือไม่ก็บลู ออริจิน แต่สำหรับคำถามที่ว่าเมื่อใดคนทั่วไปจะท่องอวกาศได้นั้น คงขึ้นอยู่กับว่าบริษัทเหล่านี้จะส่งลูกค้าท่องอวกาศได้จริงหรือไม่ ซึ่งหากความก้าวหน้าที่ว่านี้เกิดขึ้นจริงแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ความฝันอันล่องลอยนี้จะมาถึงเราอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ