In Focusจับตานโยบายธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ ท่ามกลางภาวะครึ้มฟ้าครึ้มฝนของเศรษฐกิจโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 11, 2019 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ความสัมพันธ์ทางการค้าที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนอารมณ์ตลาด (market sentiment) มาหลายต่อหลายสัปดาห์ แต่ในช่วงสัปดาห์ถึงสองสัปดาห์นี้ ประเด็นสงครามการค้าอาจต้องหลีกทางให้ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกก้าวขึ้นมารับบทเด่นในตลาดการเงิน เพราะนักลงทุนทั่วโลกต่างรอดูว่า แบงก์ชาติเหล่านี้จะกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายอย่างไร ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หดตัว หรือถึงขั้นหวั่นเกรงกันว่า บางประเทศอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกันเลยทีเดียว

* ธนาคารกลางจีน (PBOC)

สภาแห่งรัฐ หรือคณะรัฐมนตรีจีน ได้เปิดเผยในการประชุมเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จีนจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ทั้งแบบเป็นวงกว้างและแบบกำหนดเป้าหมาย ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจีนซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เป็นประธานการประชุม ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า สถานการณ์ในต่างประเทศมีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น และเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันช่วงขาลง ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงพิจารณาว่าจะปรับลด RRR ทั้งในแบบเป็นวงกว้างและแบบกำหนดเป้าหมาย ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยการปรับลด RRR จะเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยเงินกู้ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy)

นักวิเคราะห์มองว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีจีนอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า การปรับลด RRR ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและการกู้ยืมนั้น อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ

และยังไม่ทันข้ามสัปดาห์ ธนาคารกลางจีนก็ทำจริง โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. PBOC ได้ออกมาประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 0.50% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. เป็นต้นไป

ด้าน The Global Times หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในเครือของ People's Daily ซึ่งเป็นสื่อใหญ่ของรัฐบาลจีน รายงานผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันอาทิตย์ว่า มีแนวโน้มที่จีนจะประกาศลด RRR ลงอีกในปีนี้ โดยอ้างความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายราย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก กำลังเผชิญแรงกดดันสองด้าน คือทั้งจากการปฏิรูปภายในประเทศเอง และจากการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ โดยเชื่อว่าแบงก์ชาติจีนจะใช้การลด RRR เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แทนการลดดอกเบี้ย

โดยนอกจากการลด RRR ลงในอัตรา 0.5% ดังกล่าวแล้ว แบงก์ชาติจีนยังได้ประกาศลด RRR เพิ่มอีก 1.00% สำหรับธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น (City Commercial Bank) ที่มีการดำเนินงานอยู่เฉพาะในบางมณฑล ซึ่งการลด RRR สำหรับธนาคารท้องถิ่นจะแบ่งออกเป็นสองช่วง คือเฟสแรกจะลดลง 0.50% มีผลวันที่ 15 ต.ค. และอีก 0.50% จะมีผลในวันที่ 15 พ.ย.

Cong Yi อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทียนจิน กล่าวกับ Global Times ว่า การลด RRR ครั้งล่าสุดจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจที่แท้จริง ในขณะที่รัฐบาลได้เพิ่มความเข้มงวดกวดขันกับภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยการใช้นโยบายต่าง ๆ อย่างเช่น การจำกัดการซื้อบ้าน เป็นต้น

ด้านนาย Dong Dengxin ผู้อำนวยการสถาบัน Financial Securities Institute มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอู่ฮั่น กล่าวว่า การประกาศลด RRR ครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยเศรษฐกิจขยายตัวชะลอลงไตรมาสต่อไตรมาสในปีนี้ เพราะถูกกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการค้า ตลอดจนปัญหาต่างๆ นานาที่บริษัทภายในประเทศต้องประสบอันเนื่องมาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของทางการจีน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.4% ในไตรมาสแรกของปี 2562 และ 6.2% ในไตรมาสสอง

"GDP อาจขยายตัวที่ราว 6.0% ในไตรมาสสาม และดิ่งลงต่ำกว่า 6% ในไตรมาสสี่" นาย Dong กล่าวกับ Global Times พร้อมทั้งแสดงความเห็นว่า รัฐบาลอาจจะลด RRR ลงอีกในปีนี้ ขณะที่การลดอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจาก "ประการแรก การลดดอกเบี้ยช่วยเพิ่มความต้องการกู้ยืมก็จริง แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสทางการเงินสำหรับธนาคาร ซึ่งการลด RRR สามารถทำได้ ประการที่สอง ทุกวันนี้ รัฐบาลมีความระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับการปรับมาตรฐานอัตราดอกเบี้ยโดยใช้มาตรการบริหารจัดการต่าง ๆ"

ขณะเดียวกัน นอกจากการลด RRR แล้ว นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่า จีนน่าจะมีมาตรการรกระตุ้นออกมาอีก หลังจากที่ตัวเลขส่งออกและนำเข้าเดือนส.ค.ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สี่

สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ยอดส่งออกเดือนส.ค.หดตัว 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนก.ค.

คงต้องมารอดูกันว่า การลด RRR ครั้งล่าสุดจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นอย่างที่รัฐบาลมุ่งหวังหรือไม่ และจีนจะออกมาตรการกระตุ้นใหม่ ๆ มาเสริมอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้หรือไม่

* ธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ว่ากันว่าการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีนี้ จะเป็นครั้งหนึ่งที่ถูกจับตามองมากที่สุดในรอบหลายปี เนื่องจากตลาดรอดูว่า ECB จะกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายอย่างไร ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าเศรษฐกิจภายในภูมิภาค โดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน เสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 หดตัวลง 0.1% หลังจากที่ขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 1 โดยสำนักงานสถิติระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ GDP เยอรมนีหดตัวลงในไตรมาส 2 นั้น มาจากยอดการส่งออกที่ร่วงลง และผลกระทบของข้อพิพาทการค้า

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และประกาศรื้อฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รอบใหม่ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 12 ก.ย. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน

โดยตลาดการเงินคาดการณ์ว่า มีแนวโน้ม 80% ที่ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.20% ในการประชุมสัปดาห์นี้

สำหรับในการประชุมนโยบายการเงินรอบที่แล้วในวันที่ 25 ก.ค.นั้น ที่ประชุม ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.40% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

นอกจากนี้ ECB ระบุว่า จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไป หรือปรับลดลง อย่างน้อยจนถึงช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563

"กรรมการบริหารของ ECB ได้มอบหมายให้คณะกรรมการควบคุมระบบการเงินยุโรปทำการศึกษาทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงแนวทางการชี้นำนโยบายการเงิน การใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการกำหนดขนาดและองค์ประกอบของการซื้อพันธบัตรครั้งใหม่" แถลงการณ์ของ ECB ระบุ

แถลงการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า ECB อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือดำเนินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE อย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือนก.ย.

ทางด้านนายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 31 ต.ค.นี้ กล่าวในการแถลงข่าวภายหลังการประชุมครั้งหลังสุดว่า การใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินครั้งใหญ่ยังคงมีความสำคัญ เพื่อรับประกันว่าสภาวะทางการเงินมีความแข็งแกร่ง และเอื้อต่อการขยายตัวของยูโรโซน

นายดรากียังระบุว่า กรรมการ ECB ทุกคนเห็นพ้องกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ทำให้ตลาดเทใจเชื่อว่า ECB จะต้องตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่นอนในการประชุมพรุ่งนี้

* ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 130,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้มีกระแสคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 17-18 ก.ย. หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช่นกันในการประชุมรอบที่แล้วเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค. ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2551

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขจ้างงานออกมาน่าผิดหวัง แต่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมากล่าวว่า เขายังคงเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ประสบภาวะถดถอย

"เราไม่เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย" นายพาวเวลกล่าว แต่อย่างไรก็ตามในขณะเดียวกัน นายพาวเวลยังได้ระบุถึงหลายปัจจัยที่ยังคงท้าทายเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า การตัดสินใจด้านนโยบายการเงินของเฟดไม่ถูกกระทบจากปัจจัยทางการเมือง โดยขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ที่ดีที่สุดที่เฟดสามารถทำได้

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มักโจมตีนายพาวเวล และนโยบายการเงินของเฟด พร้อมกับเรียกร้องให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1% และรื้อฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

นายพาวเวลยืนยันว่า เฟดจะยังคงดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลยอมรับว่ากรรมการเฟดยังคงมีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับนโยบายที่เหมาะสมของเฟด โดยนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ สนับสนุนให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ขณะที่นายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟด สาขาบอสตัน และนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟด สาขาแคนซัส ซิตี้ สนับสนุนให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ย

ด้านสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนธ.ค. และคาดว่าหลังจากนั้นจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมตลอดปี 2563

ขณะที่เวลส์ฟาร์โกออกรายงานบทวิเคราะห์ ซึ่งระบุว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เฟดจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า ท่ามกลางเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และข้อพิพาทการค้า

นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ระบุด้วยว่า ตอนนี้ตลาดไม่ได้สนใจเพียงแค่ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ แต่อยากรอดูว่าจะลดลงเท่าไหร่ รวมถึงเฟดจะสื่อสารถึงแนวนโยบายการเงินในอนาคต (forward guidance) อย่างไร

ทั้งนี้ นอกจากการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ก.ย. และการประชุมของเฟดในวันที่ 17-18 ก.ย.นี้แล้ว ความเคลื่อนไหวทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นประเด็นที่นักลงทุนจับตาใกล้ชิดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นดราม่า Brexit การประท้วงยืดเยื้อในฮ่องกง และการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ