In Focusตะวันออกกลางระอุหลังเหตุโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันซาอุดีอาระเบีย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 18, 2019 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหตุโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของบริษัท ซาอุดี อารามโค ที่อับกาอิกและคูรานิสในซาอุดีอาระเบียเพียงแค่วันเดียว ส่งผลกระทบและสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ทั้งในเรื่องผลผลิตน้ำมันในภาคอุตสาหกรรม เนื่องด้วยประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ความรู้สึกของนานาประเทศที่หวั่นวิตกว่า เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเป็นอย่างไร จะไปรอดหรือไม่ หากสถานการณ์ที่ซาอุดีอาระเบียยังไม่ดีขึ้น In Focus สัปดาห์นี้ ขอพาทุกท่านไปสำรวจแง่มุมต่างๆนานาของเหตุการณ์ที่ถูกจับตาว่า จะสิ้นสุดลงอย่างไร

หากนับย้อนไทม์ไลน์เหตุการณ์ในอดีตที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้ำมันแล้ว จะเห็นได้ว่า เหตุโจมตีครั้งล่าสุดนี้ ส่งผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสจริงๆ

ปี พ.ศ. 2508 วิกฤตคลองสุเอซ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้ำมันหายไปจากภาคอุตสาหกรรม 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปี พ.ศ. 2513-2514 สงครามอาหรับ-อิสราเอล ส่งผลใฟ้น้ำมันหายไปจากระบบ 4.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปี พ.ศ. 2523 การปฏิวัติอิหร่าน ส่งผลให้น้ำมันหายไปจากระบบ 5.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปี พ.ศ. 2524 สงครามอิหร่าน-อิรัก ส่งผลให้น้ำมันหายไปจากระบบ 4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปี พ.ศ. 2533 เหตุการณ์อิรักบุกคูเวต ส่งผลให้น้ำมันหายไปจากระบบ 4.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปี พ.ศ. 2544 การระงับส่งออกน้ำมันของอิรัก ส่งผลให้น้ำมันหายไปจากระบบ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปี พ.ศ. 2545-2546 เหตุประท้วงในเวเนซุเอลา ส่งผลให้น้ำมันหายไปจากระบบ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปี พ.ศ. 2546 สงครามอิรัก ส่งผลให้น้ำมันหายไปจากระบบ 2.3 ล้านตัน

ปี พ.ศ. 2562 เหตุโจมตีด้วยโดรนที่ซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้น้ำมันหายไปจากระบบ 5.7 ล้านตัน

ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุ

การโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญครั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุตัวยงหนีไม่พ้น "อิหร่าน" คู่ปรับทั้งสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย หลังจากที่สหรัฐได้ออกมาให้ข่าวว่า สหรัฐได้ตรวจพบพิกัดในการส่งโดรน และการยิงขีปนาวุธจากทางใต้ของอิหร่านในการโจมตีโรงงานน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์โจมตีดังกล่าว ระบบป้องกันขีปนาวุธของซาอุดีอาระเบียไม่สามารถปกป้องน่านฟ้าของประเทศ เนื่องจากมีการตั้งระบบดังกล่าวหันไปทางใต้ของประเทศเพื่อป้องกันการโจมตีจากเยเมน ขณะที่การโจมตีมาจากทางเหนือของซาอุดีอาระเบีย

ทางด้านกลุ่มพันธมิตรชาติอาหรับที่นำโดยซาอุดีอาระเบียในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏฮูตีของเยเมน ก็ได้ออกมาแถลงในวันนี้ว่า ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า โดรนที่ใช้ในการโจมตีโรงงานน้ำมันในซาอุดีอาระเบียเป็นของอิหร่าน และโดรนดังกล่าวไม่ได้ถูกปล่อยขึ้นจากทางเยเมน

ทั้งนี้ พันเอกเตอร์กี อัล-มัลกี โฆษกของกลุ่มพันธมิตร กล่าวว่า การตรวจสอบยังคงดำเนินต่อไป เพื่อหาจุดปล่อยโดรนดังกล่าว

คำแถลงของกลุ่มพันธมิตรสอดคล้องกับความเห็นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้ทวีตข้อความว่า อิหร่านไม่ได้พูดความจริง กรณีปฏิเสธเกี่ยวกับการใช้โดรนโจมตีโรงงานน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย

แม้ว่า ทรัมป์ จะออกตัวแรงกรณีอิหร่าน แต่ล่าสุด ทรัมป์ก็ได้ลดโทนลง ด้วยการออกมาระบุว่า ไม่ต้องการทำสงครามกับประเทศใดเลย ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านที่ย่ำแย่ลงอีก หลังจากที่สหรัฐระบุว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญของซาอุดีอาระเบีย

"ผมต้องการทำสงครามหรือไม่ ผมไม่ต้องการทำสงครามกับใครเลย" ปธน.ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว ซึ่งถามว่าเขาต้องการทำสงครามกับอิหร่านหรือไม่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่หลายคนในคณะบริหารของปธน.ทรัมป์ระบุว่า อิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตีโรงงานน้ำมันของบริษัทซาอุดี อารามโค ซึ่งทำให้ผลผลิตน้ำมันดิบของซาอุฯลดลงกว่าครึ่ง

ส่องมุมมองนักวิเคราะห์ต่างชาติและไทย

นักวิเคราะห์ต่างชาติอย่าง อนีคา กุปตา นักยุทธศาสตร์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ของวิสดอม ทรี ได้กล่าวกับบีบีซีว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จะยังไม่ส่งผลกระทบในทันทีต่อผู้บริโภค เนื่องจากยังคงมีเวลาในการลำเลียงน้ำมันที่เหลือ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ยืดเยื้ออกไปมากกว่า 6 สัปดาห์ ราคาน้ำมันอาจจะดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทางด้านบ็อบ แมคนัลลี อดีตที่ปรึกษาด้านพลังงานคณะทำงานประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช กล่าวว่า สถานการณ์คงจะยืดเยื้อ ตราบใดที่สหรัฐและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอยู่คนละขั้วกับอิหร่าน ยังคงวนเวียนอยู่ในสถานการณ์คุกรุ่นที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งยวด

นายมาร์โค โคลาโนวิช นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน ระบุว่า ราคาน้ำมันจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น จนกว่าจะพุ่งแตะระดับ 80-85 ดอลลาร์/บาร์เรล

นายโคลาโนวิชระบุในรายงานว่า ในเวลาที่ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ ค่าสัมประสิทธิ์ของน้ำมันจะปรับตัวเป็นบวกกับดัชนี S&P 500 แต่เมื่อราคาน้ำมันทะยานขึ้น ค่าสัมประสิทธิ์จะลดลงจนมีค่าติดลบ

"ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดฟิวเจอร์ได้ปรับตัวในช่วงแคบต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน 100 วัน และ 200 วัน รวมทั้งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 12 เดือน ทำให้นักลงทุนพากันส่งแรงขายเข้าตลาด แต่ราคาสปอตในวันนี้ได้ดีดตัวทะลุเส้นค่าเฉลี่ยเหล่านี้แล้ว ดังนั้นจะทำให้มีแรงซื้อคืนกลับเข้าตลาด" รายงานระบุ

อย่างไรก็ดี นายโคลาโนวิชระบุว่า ถึงแม้ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง จะกระทบการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ก็จะทำให้ราคาในหุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้น และสร้างกำไรให้กับกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งคลายความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้สินในอุตสาหกรรมพลังงาน ขณะที่ช่วยเพิ่มการจ้างงานในธุรกิจดังกล่าว

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของเหตุการณ์นี้ต่อเศรษฐกิจไทย โดยแบ่งเป็น 2 กรณีตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์การตอบโต้ ดังต่อไปนี้

1. กรณีที่ซาอุดีอาระเบียไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ อาทิ การข่มขู่ให้กลัว การตอบโต้โดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับอิหร่าน ก็น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น

ภายใต้สมมติฐานนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทยอยปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ (ที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล) ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉพาะในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.62 โดยคาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 4 เดือนหลังของปี 62 ปรับเพิ่มขึ้น 0.05% จากประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเดิม (กรณีที่ไม่มีเหตุการณ์โรงกลั่นน้ำมันของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีทางอากาศ) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตลอดทั้งปี 62 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.84%

2. กรณีที่ซาอุดีอาระเบียใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 62 สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นประกอบกับอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ลดลง น่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในระดับที่สูงขึ้นมาอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือของปี 62 (จากเดิมที่เคลื่อนไหวใน 50-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วง 8 เดือนแรกของปี 62) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทางด้วยกัน

เหตุโจมตีครั้งนี้ยังเสี่ยงกระทบแผนการขายหุ้นไอพีโอของซาอุดี อารามโค

เหตุโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบผู้บริหารชุดใหม่ของซาอุดี อารามโค และกระทรวงน้ำมันของซาอุฯ เพราะเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นถือเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติที่สนใจลงทุนในหุ้นไอพีโอของอารามโค ท่ามกลางแผนการขายหุ้นไอพีโอเป็น 2 ส่วน โดยเฟสแรก ซาอุดี อารามโค ตั้งเป้าขายหุ้นในตลาดหุ้นซาอุดีอาระเบีย และหลังจากนั้นจึงจะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ซาอุดี อารามโค ยังไม่ได้แจ้งต่อทีมงานที่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นไอพีโอว่า จะชะลอแผนการขายหุ้นออกไป และคาดการณ์ว่า การขายหุ้นไอพีโอในตลาดหุ้นซาอุดีอาระเบียคงจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.นี้

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของซาอุดี อารามโค ได้ออกมาประกาศว่า แผนการเสนอขายหุ้นไอพีโอยังคงเป็นไปตามแผนปกติ นอกจากนี้ บริษัทจะฟื้นฟูการผลิตน้ำมันให้กลับมาจัดส่งน้ำมันให้กับลูกค้าให้ได้ โดยภายในช่วงสิ้นเดือนก.ย. บริษัทจะสามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้ถึง 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 12 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ย.นี้

สถานการณ์โจมตีครั้งล่าสุดนี้ คงจะยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ ซาอุดีอาระเบียเองต้องใช้เวลาซ่อมระบบการผลิตน้ำมันที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งหาทางป้องกันเหตุโจมตีด้วยโดรนที่สามารถหลุดรอดระบบป้องกันขีปนาวุธของประเทศเข้ามาโจมตี ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุที่แท้จริงจะถูกเปิดโฉมหน้าออกมาได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ