In Focus"สงครามการค้า-ประชุมเฟด-Brexit" ระเบิดเวลากำหนดทิศทางโลกที่ต้องจับตาตลอดเดือนตุลาคมนี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 9, 2019 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เดือนตุลาคม 2562 นับเป็นอีกเดือนที่น่าจับตามากที่สุดในปีนี้ เพราะมีระเบิดเวลาถึง 3 ลูกที่นักลงทุนทั่วโลกจะพลาดไม่ได้แม้แต่ประเด็นเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดการเจรจาการค้ารอบใหม่ของมหาอำนาจแห่งเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐและจีนในวันที่ 10-11 ต.ค. การพิจารณาเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีขึ้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 29-30 ต.ค. รวมถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ของอังกฤษ (Brexit) ซึ่งขีดเส้นตายไว้ในวันที่ 31 ต.ค. ดังนั้น In Focus ในสัปดาห์นี้ จะขอพาทุกท่านไปติดตามเส้นทางความเป็นมาของทั้ง 3 ประเด็น รวมถึงบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญว่า โลกใบนี้ จะเคลื่อนตัวไปในทิศทางใด

  • พญาอินทรีย์ ปะทะ พญามังกร สู่ความหวังครั้งใหม่ในการเจรจาการค้า

สหรัฐและจีนได้เริ่มเปิดฉากสงครามการค้ากันเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2561 โดยเรื่องราวเริ่มต้นมาจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เล็งเห็นว่า จีนเป็นประเทศที่ส่งสินค้ามาขายในสหรัฐเป็นจำนวนมาก แถมยังโกยเงินกลับประเทศไปอย่างมหาศาล ด้วยเหตุนี้ ปธน.ทรัมป์จึงได้ลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยการประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐวงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายได้สร้างความกังวลไปทั่วหัวระแหงว่า "โลกกำลังจะเกิดสงครามการค้า" และก็เป็นจริงดังคาด … สองผู้นำเศรษฐกิจแห่งโลกตะวันตกและตะวันออกต่างขับเคี่ยวทำสงครามการค้ากันอย่างไม่ลดราวาศอก โดยทั้งคู่ต่างแลกหมัดด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของแต่ละฝ่าย พร้อมทำสงครามน้ำลาย เพื่อบีบบังคับคู่ต่อสู้ให้หันกลับมาสู่โต๊ะเจรจา

สงครามการค้าครั้งนี้กินเวลายืดเยื้อมาเกือบ 2 ปี และไม่มีทีท่าว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะ มิหนำซ้ำ การรบพุ่งกันยังสร้างความบอบช้ำให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก โดยล่าสุด ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองมหาอำนาจโลกจึงหันหน้ามาเจรจากันอีกครั้งเพื่อบรรลุข้อตกลงที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งทั่วโลกต่างลุ้นว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนครั้งที่ 13 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ที่กรุงวอชิงตัน จะเป็นจุดจบของสงครามการค้าหรือไม่ โดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นผู้นำคณะเจ้าหน้าที่จีน เพื่อเข้าพบนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ

ทั้งนี้ นายหวัง ชูเหวิน รมช.พาณิชย์จีน กล่าวว่า จีนตั้งตารอการเจรจาการค้าครั้งที่ 13 และหวังว่า "ภายใต้ความเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งสองฝ่ายจะระมัดระวังเรื่องความกังวลของแต่ละฝ่าย จะใช้เวทีนี้ในการแก้ปัญหาความต่าง รวมถึงค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย"

อย่างไรก็ดี เหล่านักวิเคราะห์มองว่า การเจรจาครั้งนี้อาจไม่บรรลุผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวได้ออกมาเปิดเผยว่า ทางการสหรัฐอยู่ในระหว่างการพิจารณาไม่ให้บริษัทสัญชาติอเมริกันลงทุนในบริษัทของจีน นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ยังได้กล่าวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนสู่ระดับ 30% รวมมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ในวันที่ 15 ตุลาคม ขณะที่จีนเตรียมตอบโต้ด้วยการเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สหรัฐในเดือนธันวาคม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การงัดข้อกันของสองมหาอำนาจอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นครั้งใหม่ และการที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวนั้นมีเพียงหนทางเดียว คือการยุติสงครามการค้า

  • นักลงทุนลุ้น "เฟด" ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์สุดท้ายของเดือนต.ค.

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมเปิดฉากการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 29-30 ต.ค.นี้ ซึ่ง FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสราว 79.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัว หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน

อย่างไรก็ตาม นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง และหน้าที่ของเฟดคือการดำเนินการเพื่อรักษาความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สร้างความผิดหวังตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขภาคการผลิตและบริการของสหรัฐที่ซบเซา ตัวเลขการจ้างงานในภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาดการณ์

"ในขณะที่เราเชื่อว่ากลยุทธ์และเครื่องมือของเรายังคงมีประสิทธิภาพ แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็กำลังเผชิญกับปัจจัยความท้าทายในระยะยาว ซึ่งได้แก่ การขยายตัวในระดับต่ำ เงินเฟ้อในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ" นายพาวเวลกล่าว

ด้านเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟด สาขาแคนซัส ซิตี้ ได้แสดงความเห็นว่า เธอไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่อยู่ระดับต่ำในขณะนี้ เนื่องจากเธอมองว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะที่ดี โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อัตราว่างงานต่ำ และเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มขยายตัวปานกลาง

แต่ถึงกระนั้น นางจอร์จก็ส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจย่ำแย่ลง โดยกล่าวว่า "หากข้อมูลเศรษฐกิจในอนาคตเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแอลงเป็นวงกว้าง การปรับนโยบายการเงินก็อาจเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพื่อให้เฟดบรรลุเป้าหมายการสนับสนุนการจ้างงานให้ขยายตัวอย่างยั่งยืนและอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ"

ทั้งนี้ หากเฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนตุลาคม ก็จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ของเฟดในปีนี้ รวมทั้งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงิน 3 ครั้งติดต่อกัน

อนึ่ง ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% แต่มติการประชุมครั้งนี้ไม่เป็นเอกฉันท์ เนื่องจากนายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน และนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย ขณะที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ สนับสนุนให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50%

  • "บอริส จอห์นสัน" พร้อมพาอังกฤษออกจาก EU 31 ต.ค.นี้ ไม่แคร์แม้จะ no-deal

หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสายบู๊ก็ได้ประกาศกร้าวว่า จะพาอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ไม่ว่าจะมีการทำข้อตกลงกันได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะ no-deal Brexit ขึ้นจริง อังกฤษจะต้องสูญเสียสิทธิพิเศษหลายประการ โดยรายงานจากที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ระบุว่า แม้จะมีการทำข้อตกลงการค้ากับหลายประเทศ แต่สินค้าส่งออกของอังกฤษไปยังประเทศนอกกลุ่ม EU ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่ภาษีจะปรับตัวขึ้น อาทิ ตุรกี แอฟริกาใต้ แคนาดา และเม็กซิโก

นอกจากนี้ หากอังกฤษไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเหล่านี้ได้ทันวันที่ 31 ต.ค. อังกฤษจะสูญเสียมูลค่าการส่งออกเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ และอาจต้องรับภาระจากภาษีที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การแยกตัวออกจาก EU โดยปราศจากข้อตกลงจะส่งผลให้อังกฤษสูญเสียมูลค่าการส่งออกอย่างน้อย 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 7% ของยอดการส่งออกไปยัง EU

ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ประเมินว่า ในกรณีที่ย่ำแย่ที่สุด no-deal Brexit จะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษหดตัวถึง 5% ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งถือว่ารุนแรงเทียบเท่ากับช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก ส่วนในระยะยาวนั้น เศรษฐกิจอังกฤษจะหดตัวลง 8% ภายในปี 2578 และผลกระทบจะรุนแรงมากขึ้น หากจำนวนชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้าอังกฤษลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน BoE เตือนว่า no-deal Brexit อาจทำให้เงินปอนด์ทรุดตัวลงถึง 25% เทียบดอลลาร์ ส่งผลให้ 1 ปอนด์มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์ จากปัจจุบัน 1 ปอนด์มีค่าเท่ากับ 1.23 ดอลลาร์ โดยก่อนหน้านี้ ปอนด์ได้ดิ่งลงอย่างรุนแรงในวันที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจาก EU โดยปอนด์ร่วงลงจากระดับ 1.50 ดอลลาร์ สู่ระดับ 1.32 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปี

ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 22 วันที่จะชี้ชะตาอังกฤษว่า จะสามารถทำข้อตกลงกับ EU ได้ทันหรือไม่ หรือจากไปอย่างสง่างาม คงต้องรอดูกันว่า ระเบิดเวลาลูกนี้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนมากน้อยเพียงไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ