In Focus"2562" ปีแห่งการประท้วง สงครามการค้า ศึกในบ้าน และ Brexit

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 4, 2019 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปี 2562 เป็นอีกปีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะฮ่องกงที่การประท้วงนั้นยืดเยื้อไม่แพ้กันกับการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ต่างใช้เวลาแก้ลำกันไปมาอย่างไม่ลดลาวาศอก ศึกการเมืองในบ้านของสหรัฐที่ร้อนแรงจนนำไปสู่การยื่นเรื่องไต่สวนเพื่อถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะเปิดฉากขึ้นในเดือนพ.ย. 2563 ตลอดจนเกมการเมืองระลอกแล้วระลอกเล่าในอังกฤษและสหภาพยุโรปอันเนื่องมาจากการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จนนำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ

In Focus สัปดาห์นี้ ขอสรุปสถานการณ์และความเคลื่อนไหวทางการเมืองส่งท้ายปี 2562 ให้กับผู้อ่านได้ย้อนสำรวจดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและสิ้นสุดลง รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยังต้องติดตามกันต่อไปว่าจะลงเอยอย่างไร

ฮ่องกงประท้วงเดือด

หนึ่งในการประท้วงที่สร้างปรากฎการณ์และแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก คงต้องพูดถึงการประท้วงในฮ่องกงที่เปิดฉากจากการต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ลุกลามบานปลายไปสู่การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และการแยกฮ่องกงเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ สถานการณ์ตึงเครียดอย่างต่อเนื่องและในที่สุดการประท้วงที่ยืดเยื้อก็กลายเป็นเหตุรุนแรงจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต

แม้ว่า ทางรัฐบาลฮ่องกงจะพยายามประนีประนอมกับผู้ประท้วง แต่ดูเหมือนว่า กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงยังคงดึงดันที่จะกดดันรัฐบาลให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องเพราะกระแสแห่งความไม่พอใจและไฟแห่งความอัดอั้นถูกจุดติดแล้วในดินแดนซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เกาะซึ่งมีกฎหมายเป็นของตนเองและยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน

ทางด้านรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ทุกครั้งที่มีสถานการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นกับฮ่องกง ทางรัฐบาลจะออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางช่องทางต่างๆทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือสื่อที่เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล และยังไม่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ขณะที่ผลการเลือกตั้งสภาเขตของฮ่องกงเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นนั้น ได้กลายเป็นอีกปัจจัยที่ทางรัฐบาลจีนและฮ่องกงจะต้องนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า จะใช้นโยบายเพื่อรับมือกับเหตุประท้วงที่เกิดขึ้นต่อไปอย่างไร นับเป็นสถานการณ์ที่มีที่มาที่ไปที่นานาประเทศต่างพากันติดตามอย่างไม่ลดละว่าท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนเกาะฮ่องกงจะปิดฉากลงในรูปแบบใด

สงครามการค้าจีนและสหรัฐ

การใช้นโยบายสงครามการค้าของสหรัฐถือเป็นหมากทางการเมืองที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้เลือกใช้ เพื่อทำสงครามกับประเทศคู่อริ และสร้างฐานคะแนนเสียงให้กับตนเองและพรรครีพับลิกัน ก่อนที่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเปิดฉากขึ้นในช่วงเดือนพ.ย. 2563

ปี 2562 จึงเป็นปีที่เราได้เห็นจุดยืนและธาตุแท้ของผู้นำสหรัฐและจีนจากสงครามการค้า ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ฝ่ายพยายามที่จะเจรจาต่อรองเพื่อสรุปข้อตกลงการค้าให้ได้นั้น เกือบทุกครั้งผู้นำสหรัฐจะต้องออกมาแสดงความคิดเห็นในทางที่สวนทางกับคณะทำงานของตนเองบ้าง หรือออกมาในทางที่ตัวทรัมป์เองต้องการ ล่าสุด เมื่อวานนี้ ทรัมป์ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า การบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจล่าช้าออกไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.ปีหน้า

"อาจจะเป็นการดีกว่าที่จะรอจนกระทั่งหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้าสำหรับการบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีน" ทรัมป์กล่าว

การออกมาแสดงความเห็นครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะถึงกำหนดการขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกรอบในวันที่ 15 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ และแน่นอนข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ทุกฝ่ายหมายตาไว้ จะเป็นไปได้หรือไม่คงต้องติดตาม

ศึกถอดถอน "ทรัมป์"

แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวเพื่อยื่นไต่สวนเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง (impeachment) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐเป็นศึกการเมืองภายในบ้านของสหรัฐและอีกหมากเด็ดที่พรรคเดโมแครตพยายามผลักดัน เพื่อสั่นคลอนความน่าเชื่อถือ ฐานเสียงของทรัมป์และรีพับลิกัน ก่อนที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเปิดฉากขึ้นในช่วงปลายปี 2563

ทรัมป์ได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 ของสหรัฐที่ถูกยื่นไต่สวนเพื่อถอดถอน นับเป็นกระบวนการถอดถอนครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในรอบกว่า 20 ปี นับตั้งแต่บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครตได้ถูกไต่สวน เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2541

ประเด็นการถอดถอนถูกจุดชนวนมาจากข้อกล่าวหาที่ว่า ทรัมป์ใช้อำนาจโดยมิชอบบีบนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนให้เปิดการสอบสวนกรณีการทุจริตของ โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐสมัยบารัค โอบามา ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมด้วยนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชาย ผู้บริหารบริษัทบูริสมาซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งในยูเครน

นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า การถอดถอนครั้งนี้ หากคว้าน้ำเหลวก็ใช่ว่า จะเป็นความเคลื่อนไหวที่เหนื่อยฟรีของพรรคเดโมแครต หากแต่เป็นการสั่นคลอนความน่าเชื่อถือ และฐานเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทรัมป์เหยียบพื้นที่ชายแดนประวัติศาสตร์ของเกาหลีเหนือ

ในยุคที่อริกลายเป็นเสมือนมิตร (หรือไม่) ก็มีให้เห็นเช่นกันในปีนี้ ในสมัยรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถือได้ว่ามีปรากฎการณ์เกี่ยวพันกับภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นก็คือการประชุมระหว่างทรัมป์ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ รวมทั้งการพบปะกันครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีสหรัฐที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างทรัมป์ที่พบปะกับนายคิม จอง อึน ที่เขตปลอดอาวุธ (Demilitarized Zone) บริเวณพรมแดนของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้จะเป้นช่วงเวลาสั้นๆแต่ก็เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของทั้งสหรัฐและเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศนี้ มีเงื่อนไขในการดำเนินนโยบายของตนเอง จึงทำให้การประชุมและการพบปะกันในพื้นที่ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นมาแต่ยังไม่สามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมตามมาอย่างที่ทุกฝ่ายตั้งความหวังไว้ ไม่ว่าจะเป็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีเหนือ หรือการประชุมร่วมกันอีกครั้งระหว่างทรัมป์และคิม จอง อึน

ข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์

ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ที่ฝังรากลึกจนส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันคงสะท้อนให้เห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ตกอยู่ในสภาพตึงเครียดชนิดที่ต่างฝ่ายต่างพยายามใช้หลากหลายวิธีเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นอันสืบเนื่องมาจากอดีตสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นก็ยังไม่สามารถคลี่คลายลงได้ หากจำกันได้ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ศาลสูงของเกาหลีใต้ได้สั่งให้บริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ จ่ายเงินชดเชยให้กับชาวเกาหลีใต้ที่ถูกบริษัทบังคับใช้แรงงานหนักในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคม เช่นเดียวกับบริษัท นิปปอน สตีล และบริษัท ซูมิโตโม เมทัล ที่ถูกตัดสินในคดีคล้ายกันก่อนหน้านั้นไม่นาน

พอย่างเข้าปี 2562 จุดเริ่มต้นของข้อพิพาทการค้าระหว่างสองประเทศได้ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ค. เมื่อญี่ปุ่นประกาศควบคุมการส่งออกเคมีภัณฑ์ 3 ชนิดไปยังเกาหลีใต้ ซึ่งใช้ในการผลิตหน้าจอแสดงผล ชิปประมวลผล และกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยญี่ปุ่นได้อ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ โดยระบุว่า หากไม่ควบคุมการส่งออกให้เข้มงวดมากขึ้น วัตถุดิบเหล่านี้ก็อาจถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารได้

ต่อมาทั้ง 2 ฝ่ายยังคงใช้มาตรการตอบโต้กันทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความมั่นทางการทหาร แต่ในระหว่างทที่ข้อพิพาทยังคงขมวดปมอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศก็ยังคงใช้ความพยายามที่จะคลี่คลายปมแห่งความขัดแย้งให้ได้อย่างต่อเนื่อง แต่จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น คงต้องติดตามกันต่อไป

ปฏิบัติการปลิดชีพหัวหน้ากลุ่ม IS

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐในตะวันออกกลางยังคงมีอยู่ ทั้งในรูปแบบการแทรกแซงแบบลับหรือโจ่งแจ้ง โดยปฏิบัติการสังหารนายอาบู บัคร์ อัล-บักดาดี หัวหน้ากลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ถือเป็นอีกเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยปฏิบัติการดังกล่าวเปิดฉากขึ้นในคืนวันที่ 26 ต.ค. ตามเวลาสหรัฐ หลังเจ้าหน้าที่ CIA ซึ่งทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของอิรักและชาวเคิร์ดเพื่อหาแหล่งกบดานของนายอัล-บักดาดี สามารถระบุได้ว่า นายอัล-บักดาดี กบดานอยู่ในหมู่บ้านบาริชา ในจังหวัดอิดลิบ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มที่เป็นศัตรูกับกลุ่ม IS

สหรัฐได้แจ้งให้กับพันธมิตรและชาติมหาอำนาจในบริเวณดังกล่าวอย่างตุรกี อิรัก กองกำลังชาวเคิร์ด และรัสเซียทราบล่วงหน้าก่อนจะบุกโจมตี โดยใช้กองกำลังพิเศษ Delta Force ประมาณ 100 นาย พร้อมเฮลิคอปเตอร์ 8 ลำ และสุนัขทหาร ในปฏิบัติการนี้ โดยขึ้นบินจากฐานทัพใกล้กับอิรัก

เมื่อถึงแหล่งกบดาน ได้มีการยิงต่อสู้จากลูกน้องของนายอัล-บักดาดี ขณะที่เฮลิคอปเตอร์สหรัฐได้ยิงตอบโต้ ได้มีการเรียกให้นายอัล-บักดาดี ยอมจำนน แต่ไม่เป็นผล ทหารสหรัฐจึงบุกเข้าไปโดยการเจาะรูที่กำแพงเพื่อหลีกเลี่ยงกับดักบริเวณประตูและหน้าต่าง ขณะที่นายอัล-บักดาดีได้หลบหนีไปทางอุโมงค์พร้อมกับลูกอีก 3 คน ทหารสหรัฐได้ตามล่าพร้อมส่งสุนัขทหารตามเข้าไป นายอัล-บักดาดีวิ่งเข้าไปยังอุโมงค์ซึ่งเป็นทางตัน พร้อมกับร้องไห้และกรีดร้องไปตลอดทาง ก่อนที่จะจุดชนวนระเบิดที่เสื้อซึ่งติดระเบิดเพื่อฆ่าตัวตาย แรงระเบิดส่งผลให้ลูกทั้ง 3 รวมถึงนายอัล-บักดาดีเสียชีวิต

ถึงแม้ว่า การสังหารผู้นำกลุ่ม IS จะสิ้นสุดลง แต่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า กลุ่ม IS ในภูมิภาคจะยังไม่สูญสลายไปจากพื้นที่

Brexit กับศึกเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ

อังกฤษต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองอันเนื่องมาจากการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ตลอดทั้งปี ตั้งแต่การต่อสู้ฟาดฟันกันเองระหว่างรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ ตลอดจนฝั่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จนทำให้ปีนี้ อังกฤษมีนายกรัฐมนตรีถึง 2 คนด้วย คือ นางเทเรซา เมย์ ที่แพ้ภัยตัวเองจนต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และทำให้นายบอริส จอห์นสัน ได้ขึ้นมาทำหน้าที่นายกฯคนปัจจุบัน และในวันที่ 12 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ นายจอห์นสันก็จะต้องเผชิญศึกเลือกตั้งทั่วไป

ขณะที่ผลการสำรวจล่าสุด จาก Kantar ที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 พ.ย. – 2 ธ.ค.ระบุว่า กระแสความนิยมต่อพรรคอนุรักษ์นิยมของนายบอริส จอห์นสัน โดยผลสำรวจก่อนหน้านี้โดย YouGov ชี้แนวโน้มผลการเลือกตั้งทั่วประเทศของอังกฤษ ว่า พรรคอนุรักษ์นิยม จะชนะการเลือกตั้งโดยมีเสียงข้างมากถึง 68 เสียง ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 32 ปีของพรรคอนุรักษ์นิยม นับตั้งแต่นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ ชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 3 ในปี 2530

การได้รับเสียงข้างมากดังกล่าวจะทำให้นายจอห์นสันสามารถผลักดันข้อตกลงการแยกอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษได้ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2563 และอาจทำให้นายจอห์นสันมีอิสระที่จะประนีประนอมในการเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นหนึ่งในหมากที่ชี้ชะตาของ Brexit ว่า จะก้าวเดินต่อไปตามที่ได้วางแผนไว้หรือไม่

ไม่ว่า สถานการณ์ในแต่ละประเทศจะออกมาในรูปแบบใด ล้วนเป็นความเคลื่อนไหวที่เราสามารถนำไปใช้เป็นบทเรียน แม้บางสถานการณ์จะยังคงมืดมน แต่ In Focus เชื่อว่า ทุกปัญหามีทางออก ขึ้นอยู่กับว่า เราจะรับมือและหาทางแก้ปมอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ