In Focusเปิดทริปท่องอวกาศกับ "เจฟฟ์ เบซอส" เที่ยวแค่ 10 นาที จ่ายค่าตั๋วเกือบ 900 ล้านบาท

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 16, 2021 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โลกใบนี้มีสถานที่มหัศจรรย์รอให้ค้นหามากมายในกว่า 190 ประเทศ แต่คงไม่ใช่สำหรับบุคคลปริศนารายหนึ่งที่กำเงินเกือบ 900 ล้านบาทประมูลซื้อที่นั่งในเที่ยวบินท่องอวกาศของนายเจฟฟ์ เบซอส ซีอีโอของบริษัทแอมะซอน (Amazon) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทสำรวจอวกาศ บลู ออริจิ้น (Blue Origin) ด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อบุคคลปริศนารายนี้ได้ประมูลซื้อที่นั่งในเที่ยวบินดังกล่าวไปเป็นเงิน 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 870 ล้านบาท เพื่อนั่งข้างๆ นายเจฟฟ์ เบซอส บนเที่ยวบินท่องอวกาศของ Blue Origin ซึ่งจะปล่อยยานในเดือนหน้า

ผู้ชนะการประมูลดังกล่าวสามารถเอาชนะคู่แข่งคนอื่นๆ ประมาณ 20 รายในการประมูลที่เปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนที่จะสิ้นสุดลงในการประมูลรอบสุดท้ายเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ซึ่งมีผู้เสนอราคากันอย่างดุเดือดจนทำให้ราคาที่นั่งบนเที่ยวบินนี้พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง ทั้งๆ ที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วมีราคาอยู่ที่เพียง 4.8 ล้านดอลลาร์

Blue Origin เปิดเผยว่า การประมูลครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนประมูลกว่า 7,500 รายจาก 150 ประเทศ แต่บรรยากาศการประมูลได้ดุเดือดขึ้นมาก หลังจากนายเจฟฟ์ เบซอส ประกาศว่าตนเองจะขึ้นบินด้วย พร้อมกับนายมาร์ค เบซอส ผู้เป็นน้องชาย จนทำให้จำนวนผู้เสนอราคาสูงสุดจากหลักหลายพันรายลดลงเหลือประมาณ 20 ราย

ทั้งนี้ รายได้จากการประมูลนี้จะนำไปสนับสนุนมูลนิธิ Club for the Future ของ Blue Origin ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เลือกเส้นทางอาชีพในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM

*จ่าย 870 ล้านบาท เพื่อท่องอวกาศแค่ 10 นาที

เที่ยวบินท่องอวกาศนี้จะใช้ยาน New Shepard โดยจะเดินทางออกจากทะเลทรายในรัฐเท็กซัสในวันที่ 20 ก.ค.นี้ เพื่อท่องอวกาศเป็นเวลาเพียงไม่กี่นาที โดยวันที่ 20 ก.ค.นั้นยังเป็นวันเดียวกับที่นีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน ได้กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้เดินบนดวงจันทร์เมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมาด้วย

Blue Origin เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ว่า บริษัทมีแผนส่งผู้โดยสารไปที่ความสูง 100 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเลเหนือเส้นคาร์แมน ซึ่งเป็นเส้นที่เกิดจากความพยายามในการแบ่งขอบเขตระหว่างชั้นบรรยากาศโลกกับอวกาศ เพื่อให้พวกเขาสัมผัสกับสภาวะไร้น้ำหนัก และแคปซูลดังกล่าวจะกลับลงสู่พื้นโลกโดยใช้ร่มชูชีพ

Blue Origin ประสบความสำเร็จในการทดสอบส่งยาน New Shepard โดยไม่มีลูกเรือมาแล้วเกิน 10 ครั้ง โดยเที่ยวบินในเดือนหน้านี้จะเป็นทริปท่องอวกาศครั้งแรกของ Blue Origin ที่มีผู้โดยสารเดินทางไปด้วย

เที่ยวบินนี้จะมีผู้โดยสาร 4 รายด้วยกันได้แก่ สองพี่น้องตระกูลเบซอส บุคคลนิรนามผู้ชนะการประมูล และบุคคลที่ 4 ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยชื่อ โดย Blue Origin จะประกาศเปิดเผยตัวบุคคลนิรนามผู้ชนะการประมูลในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้

ยาน New Shepard ประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ บูสเตอร์และแคปซูล โดยตัวยานจะแล่นขึ้นในแนวตั้ง ก่อนที่แคปซูลซึ่งมีผู้โดยสารทั้ง 4 คนอยู่ในนั้นจะดีดตัวออกจากบูสเตอร์ เพื่อทะยานไปให้ถึงระดับความสูง 100 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล จากนั้นผู้โดยสารในแคปซูลจะได้เห็นวิวโลกจากด้านบนผ่านหน้าต่างบานใหญ่เป็นเวลาประมาณ 3 นาที ก่อนที่แคปซูลจะลดระดับลงสู่พื้นโลก รวมเวลาที่อยู่บนยานตั้งแต่ต้นจนจบทริปได้ประมาณ 10 นาที

Blue Origin เปิดเผยว่า นับจนถึงวันนี้มีนักบินอวกาศไม่ถึง 600 รายที่สามารถเดินทางพ้นเส้นคาร์แมนนี้ไปได้ ดังนั้นเที่ยวบินดังกล่าวนี้จึงมีความพิเศษอย่างยิ่งในฐานะที่มีผู้โดยสารจ่ายเงินซื้อที่นั่งจริงๆ ซึ่งไม่ใช่นักบินอวกาศ

*เสียงคัดค้านจากคนชัง หวังปล่อยซีอีโอแอมะซอนลอยเคว้งในอวกาศ

ข่าวที่ว่านายเจฟฟ์ เบซอส จะเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่จะบินขึ้นอวกาศไม่ได้สร้างเสียงฮือฮาเพียงเท่านั้น แต่ยังมีเสียงคัดค้านจากคนกลุ่มหนึ่งด้วย แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้คัดค้านการปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศ แต่เป็นการคัดค้านไม่ให้ยานดังกล่าวร่อนกลับลงสู่พื้นดิน

ขณะนี้ได้มีการสร้างแคมเปญออนไลน์ผ่าน Change.org เพื่อทำให้เที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินแบบไปไม่กลับ ซึ่งมีผู้ลงชื่อสนับสนุนเกิน 7,500 รายแล้ว โดยเป็นการเรียกร้องไม่ให้นายเจฟฟ์ เบซอส กลับเข้ามายังชั้นบรรยากาศของโลกอีก

โฮเซ ออร์ทิซ ผู้สร้างแคมเปญดังกล่าวระบุใน Change.org ว่า "นายเจฟฟ์ เบซอส จริงๆ แล้วก็คือเล็กซ์ ลูเธอร์ ซึ่งปลอมตัวเป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จเอามากๆ แต่แท้จริงแล้วเป็นปีศาจที่มุ่งแต่จะครอบครองโลก" โดยเล็กซ์ ลูเธอร์ เป็นตัวละครผู้ร้ายในเรื่องซูเปอร์แมน ซึ่งเล็กซ์เป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านที่อาฆาตแค้นและเป็นศัตรูของซูเปอร์แมนมาตลอด

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงเสียงสะท้อนจากคนกลุ่มเล็กๆ และไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเที่ยวบินนี้

*ตลาดท่องอวกาศเริ่มเติบโต ส่องความเคลื่อนไหวคู่แข่งรายอื่น

แต่ก่อนนั้นการท่องอวกาศคงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว โดยเริ่มมีบริษัทใหญ่ๆ ลงสนามแข่งขันในตลาดนี้แล้ว ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ก็มีข่าวคราวมากมายเกี่ยวกับเที่ยวบินท่องอวกาศของบริษัทรายใหญ่ๆ จนอาจทำให้สงสัยกันว่าบริษัทรายอื่นไปถึงไหนกันแล้ว

นอกเหนือจากนายเจฟฟ์ เบซอส กับบริษัท Blue Origin ของเขาแล้ว ก็ยังมีบริษัท SpaceX ของนายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลา อิงค์ และ Virgin Galactic ของเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ลงแข่งในสนามอวกาศนี้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี แต่ละบริษัทก็มีรูปแบบการทำเที่ยวบินท่องอวกาศไม่เหมือนกัน

เที่ยวบินของ Blue Origin และ Virgin Galactic นั้นเป็นการนำผู้โดยสารขึ้นเที่ยวบินท่องอวกาศเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่นาที หรือที่เรียกว่าเที่ยวบินแบบ Suborbital แต่เที่ยวบินของ SpaceX นั้นจะใช้เวลาหลายวัน และบินในระดับที่สูงกว่า หรือที่เรียกว่าเที่ยวบินแบบ Orbital

เที่ยวบินของ Blue Origin และ Virgin Galactic นั้นถึงจะบินแบบ Suborbital เหมือนกันแต่ก็มีรูปแบบการบินขึ้นไม่เหมือนกัน โดยของ Blue Origin บินขึ้นในแนวตั้งจากพื้นสู่อวกาศโดยตรง ขณะที่ของ Virgin Galactic เป็นการติดยานอวกาศไว้ใต้เครื่องบินบรรทุกอีกทีหนึ่ง ซึ่งเครื่องบินบรรทุกที่ว่านี้จะเทคออฟจากรันเวย์ก่อนที่จะปล่อยยานอวกาศที่ติดมาด้านล่าง จากนั้นยานอวกาศที่ติดมาด้านล่างก็จะแล่นต่อไปจนทำความสูงได้ประมาณ 90 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเลก่อนที่จะแลนดิ้งลงบนรันเวย์ โดย Virgin Galactic มีแผนให้บริการเที่ยวบินผู้โดยสารพาณิชย์ในปีหน้า

ด้าน SpaceX ก็ได้ปล่อยยาน Crew Dragon ขึ้นสู่วงโคจรไปแล้วหลายครั้ง โดยได้ส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว 10 คน ขณะที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration - NASA) หรือ องค์การนาซา ได้ตัดสินใจเลือก SpaceX ให้ทำการสร้างยานอวกาศเพื่อพามนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง สำหรับเที่ยวบินภาคเอกชนนั้น ในปีนี้ SpaceX จะรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลภารกิจส่งนักบินอวกาศเอกชนขึ้นสู่วงโคจร โดยจะส่งแคปซูล Crew Dragon ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าเที่ยวบินดังกล่าวจะใช้เวลา 3 วัน โดยนับเป็นความสำเร็จซึ่งแต่ก่อนนั้นมีเพียงรัฐบาลชาติมหาอำนาจเท่านั้นที่สามารถทำได้

SpaceX ยังไม่มีการเปิดขายตั๋วท่องอวกาศให้แก่ผู้โดยสารทั่วไป โดยที่ผ่านมานั้นเป็นการจ้างจากหน่วยงานรัฐและบริษัทต่างๆ เท่านั้น เพราะเป็นการบินที่ใช้เวลานานกว่า ระยะการบินไกลกว่า และราคาตั๋วน่าจะแพงกว่ามาก โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา SpaceX ได้ประกาศชื่อลูกค้าที่จะกลายเป็นผู้โดยสารรายแรกในประวัติศาสตร์ที่จะเดินทางไปดวงจันทร์ด้วยทุนของตนเอง ซึ่งนายอีลอน มัสก์ ไม่เคยออกมาเปิดเผยว่า บุคคลผู้นั้นต้องเสียเงินเท่าใดเพื่อเดินทางไปดวงจันทร์ บอกเพียงแค่ว่า ลูกค้าผู้นี้ได้จ่ายเงินดาวน์เพื่อเหมาทั้งเที่ยวบินแล้ว จากเงินลงทุนในโครงการทั้งหมดราว 5 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.6 แสนล้านบาท

*ของเล่นใหม่ของคนรวย

แม้ตลาดการท่องอวกาศดูจะเป็นตลาดเล็กๆ สำหรับลูกค้าที่น่าจะมีเพียงไม่กี่คน แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของคนรวยเปิดเผยให้เห็นว่า ตลาดการท่องอวกาศนี้อาจมีลูกค้าหลักล้านราย และน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อราคาบัตรโดยสารถูกลง

Virgin Galactic ได้ขายบัตรโดยสารไปแล้วให้แก่ผู้โดยสารประมาณ 600 ราย โดยมีราคาบัตรอยู่ที่ประมาณคนละ 200,000-250,000 ดอลลาร์ ส่วน Blue Origin นั้นแม้จะมีผู้ประมูลบัตรไปถึง 28 ล้านดอลลาร์ แต่ราคาดังกล่าวเป็นราคาประมูลที่ผู้ซื้อเสนอราคาสูงสุดเท่านั้น ราคาบัตรเมื่อให้บริการจริงน่าจะอยู่ใกล้เคียงกับของ Virgin Galactic เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ผลสำรวจจากบริษัทวิจัย Cowen ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้วเปิดเผยว่า ตลาดท่องเที่ยวอวกาศน่าจะมีผู้ที่สามารถเป็นลูกค้าได้ประมาณ 2.4 ล้านราย ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้มาจากการประเมินความต้องการบินกับ Virgin Galactic เท่านั้น เพราะในช่วงเวลาที่ทำผลสำรวจดังกล่าวมีเพียง Virgin Galactic ที่เปิดขายบัตรแล้วจริงๆ แม้จะยังไม่มีการบินก็ตาม

เมื่อดูจากตัวเลขที่ว่านี้แล้ว ปัญหาน่าจะอยู่ที่ซัพพลายมากกว่าดีมานด์ เนื่องจากยาน 1 ลำรองรับผู้โดยสารได้เพียง 6 คน ไม่ว่าจะเป็นยานของ Virgin Galactic หรือ Blue Origin และแม้จะเร่งสร้างยานเพิ่มแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะสร้างขึ้นได้ง่ายๆ โดย Cowen คาดการณ์ว่า หาก Virgin Galactic สร้างยานได้ 11 ลำภายในปี 2573 บริษัทก็น่าจะส่งผู้โดยสารขึ้นอวกาศได้ประมาณปีละ 3,400 ราย ซึ่งยังคงถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนว่าที่ลูกค้าหลักล้านราย

อุตสาหกรรมท่องอวกาศนั้นคาดว่าได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อมีเศรษฐีรายหนึ่งจ่ายเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐจ้างรัสเซียให้ส่งตัวเองขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ทำให้เขาเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนแรกที่จ่ายเงินค่าเที่ยวบินเอง และนับตั้งแต่นั้นก็มีคนเดินตามรอยนี้เพียง 7 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของหน่วยงานที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน

แต่การเข้ามาของบริษัทเอกชน ไม่ว่าจะเป็น Blue Origin, Virgin Galactic หรือ SpaceX จะทำให้ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงแรกๆ ลูกค้าน่าจะจำกัดอยู่ที่เพียงกลุ่มผู้ที่ร่ำรวยมากๆ เพราะราคาบัตรน่าจะอยู่ที่ระดับหลักหลายล้านบาทเพื่อท่องอวกาศในเวลาไม่กี่นาที แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว ราคาบัตรอาจถูกลงจนเหลือหลักไม่กี่แสนบาท และเมื่อถึงวันนั้น เราอาจจะได้เห็นคนรู้จักโพสต์ภาพตัวเองบนยานอวกาศลงสื่อโซเชียลกันมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ