In Focusจับตาวิกฤตคลื่นความร้อน ภัยเงียบที่โลกต้องตระหนัก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 27, 2022 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ ทั่วโลกเผชิญกับคลื่นความร้อน (Heatwave) หลายระลอก แต่ที่รุนแรงและสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ คงเป็นระลอกที่เกิดขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหลายพื้นที่ของโลก ทั้งจีน, สหรัฐ และยุโรป ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงและไฟป่าที่แผดเผาพื้นที่ป่าไม้และบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก รวมถึงคร่าชีวิตผู้คนนับพัน โดยเมืองหลายแห่งมีอุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียส สภาพอากาศที่ร้อนเกินต้านไม่เพียงแต่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน แต่ยังซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวลเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีก

In Focus สัปดาห์นี้ขอพาผู้อ่านไปติดตามสถานการณ์วิกฤตสภาพอากาศที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายองศาความร้อนลงในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก

*จีน

เริ่มที่ฝั่งเอเชียอย่างจีน รายงานล่าสุดเปิดเผยว่า จีนจะยังเผชิญคลื่นความร้อนต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ และจะส่งผลกระทบต่อการใช้พลังงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยไชนา เซาเทิร์น พาวเวอร์ กริด คอมพานี (China Southern Power Grid Company: CSG) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าเตือนว่า วิกฤตคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์และส่งผลให้เกิดไฟดับในบางพื้นที่จากการใช้เครื่องปรับอากาศในภาคครัวเรือน สำนักงาน และอุตสาหกรรม โดยปริมาณการใช้ไฟเมื่อวันจันทร์ (25 ก.ค.) เพิ่มขึ้นจากระดับสูงสุดเมื่อปีก่อน 3% ขณะที่มณฑลกว่างโจวมีรายงานไฟดับเกิดขึ้นแล้ว โดยอุณหภูมิตลอดช่วงสัปดาห์ก่อนสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส และพุ่งแตะ 40 องศาเซลเซียสในวันอาทิตย์และวันจันทร์ที่ผ่านมา

ทางด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีน (CMA) คาดว่า คลื่นความร้อนระลอกนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเกือบ 2 สัปดาห์เช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา แต่ทว่าอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่า นอกจากนี้ ยังคาดว่าพื้นที่ออกประกาศเตือนด้านสภาพอากาศในระดับสีแดง (อุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียส) จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อนับถึงวันจันทร์ มีเมือง 67 แห่งที่อยู่ภายใต้การประกาศเตือนระดับสีแดง

*สหรัฐ

ส่วนฝั่งอเมริกาเหนือ พื้นที่ของสหรัฐฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific north-west) โดยเฉพาะรัฐโอเรกอน รัฐวอชิงตัน บางพื้นที่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมถึงรัฐบริติชโคลอมเบียของประเทศแคนาดา จะเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อเนื่องไปอีกหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งปกติภูมิภาคแถบนี้มักมีจะอากาศที่เย็นสบายในช่วงฤดูร้อน

แม้ว่าการคาดการณ์อุณหภูมิในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน จะต่ำกว่าระดับในเดือนมิ.ย. 2564 ซึ่งเคยเกิดปรากฏการณ์ "โดมความร้อน" (Heat dome) ซึ่งขณะนั้นอุณหภูมิแตะระดับ 46.7 องศาเซลเซียส และแตะ 47.8 องศาเซลเซียสในรัฐอื่น ๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับคลื่นความร้อนระลอกนี้คือระยะเวลาที่อาจจะยาวนานกว่า

ศาสตราจารย์วิเวก ชานดัส ศาสตราจารย์ด้านสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์ สเตท (Portland State University) เปิดเผยว่า "อุณหภูมิที่สูงต่อเนื่องกว่า 32 องศาเซลเซียสนานถึง 5 วันนั้น เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากในภูมิภาคแถบนี้ของอเมริกา"

นอกจากนี้ วิกฤตคลื่นความร้อนในสหรัฐยังทำให้เกิดไฟป่าที่รุนแรงในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "โอคไฟร์" (Oak Fire) โดยปะทุขึ้นใกล้กับอุทยานแห่งชาติโยเซมิตีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ค.) ได้เผาทำลายพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 18,532 เอเคอร์ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอีก 40 แห่ง จนถึงขณะนี้ (27 ก.ค.) สำนักป่าไม้และการป้องกันอัคคีภัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (Cal Fire) เปิดเผยว่า สามารถควบคุมไฟป่าได้ 26%

*ยุโรป ข้ามฟากมาที่ยุโรป ผู้คนในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, โปรตุเกส, กรีซ ฯลฯ ต่างต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนครั้งรุนแรงนี้ รวมไปถึงไฟป่า โดยอังกฤษเผชิญอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 19 ก.ค. โดยมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ขณะที่ท่าอากาศยานฮีทโธรว์วัดอุณหภูมิได้สูงถึง 40.2 องศาเซลเซียสส่งผลให้รถไฟหลายเที่ยวถูกยกเลิก เนื่องจากรางรถไฟร้อนจนงอตัว และเกิดเหตุไฟไหม้ทั่วกรุงลอนดอน ขณะที่อุณหภูมิในฝรั่งเศสพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในวันที่ 18 ก.ค. ที่เมืองบิสการอสส์ (Biscarosse) แตะ 42.6 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติคลื่นความร้อนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 และ 2562

ส่วนในสเปนล่าสุดนั้นได้มีการตั้งชื่อคลื่นความร้อนระลอกนี้อย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก โดยใช้ชื่อว่า "Zoe" ซึ่งคลื่นความร้อนนี้ส่งผลให้อุณหภูมิในเมืองเซบียา (Seville) พุ่งสูงกว่า 43 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภุมิบางพื้นที่ทะลุ 45 องศาเซลเซียส และก่อนหน้านี้ ที่กรุงมาดริดยังมีผู้เสียชีวิต 3 รายจากการทำงานกลางแจ้งท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุ และทำให้บรรดาสหภาพแรงงานในยุโรปเรียกร้องคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ให้ออกกฎจำกัดอุณหภูมิสูงสุดสำหรับการทำงานกลางแจ้ง

*ธุรกิจประกันสบช่องเสนอประกันโรคลมแดด

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทซมโปะ (Sompo) และซูมิโตโม ไลฟ์ (Sumitomo Life) ในญี่ปุ่นได้เสนอประกันสุขภาพสำหรับโรคลมแดด (Heatstroke) หลังจากที่กรุงโตเกียวทำสถิติร้อนถึง 35 องศาเป็นเวลาติดต่อกัน 6 วัน ทำให้มีประชาชนเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรคลมแดดมากถึง 14,000 รายในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนก.ค. โดยหากผู้ทำประกันเกิดเป็นโรคลมแดด ก็จะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด

สำหรับซูมิโตโม ไลฟ์ เสนอเบี้ยประกันเริ่มต้นอยู่ที่ราว 100 เยนต่อวัน โดยหากซื้อประกันในช่วงก่อน 9 โมงเช้าของวัน จะมีผลภายใน 10 โมงเช้า ขณะที่ทางซมโปะนั้น เพิ่งจะออกประกันประเภทนี้ออกมา โดยเริ่มต้นสำหรับเด็ก แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัย ส่งผลทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมแดดสูงขึ้น บริษัทจึงได้ขยายประกันประเภทนี้ให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย

?จนถึงขณะนี้ หลายพื้นที่ยังคงเผชิญกับคลื่นความร้อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นและหนทางรับมือวิกฤตสภาพอากาศในระยะยาวนั้น ไม่ใช่ความรับผิดชอบของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่หากเป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่ทุกประเทศบนโลกใบนี้ต้องหันมาฉุกคิด และเร่งแก้ไขก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายไปมากกว่านี้ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ