In Focusโลกระส่ำ หวั่นอาหารแพงถ้วนหน้า หลังรัสเซียฉีกข้อตกลงส่งออกธัญพืช

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 19, 2023 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 ก.ค.) ทั่วโลกเกิดความระส่ำระสายอีกครั้ง เมื่อรัสเซียประกาศยุติการมีส่วนร่วมในข้อตกลงส่งออกธัญพืชจากยูเครนผ่านเส้นทางทะเลดำ ก่อนที่ข้อตกลงดังกล่าวจะหมดอายุลงเพียงไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลให้ราคาสัญญาข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลืองพุ่งขึ้นหลังจากนั้น

สหประชาชาติและตุรกีเป็นคนกลางเจรจาให้มีข้อตกลงดังกล่าวในเดือนก.ค.ปีที่แล้ว เพื่อบรรเทาวิกฤตอาหารโลกที่เกิดจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครนตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว

ที่ผ่านมา ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการต่ออายุมาแล้วหลายครั้ง ขณะที่รัสเซียแสดงความไม่พอใจต่อการที่ข้อตกลงได้จำกัดการส่งออกธัญพืชและปุ๋ยจากรัสเซีย

*ย้อนรอย 1 ปีถึงจุดกำเนิดข้อตกลง

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมปีที่แล้ว รัสเซียและยูเครนได้ลงนามในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อช่วยคลี่คลายวิกฤตอาหารทั่วโลก โดยพิธีดังกล่าวมีขึ้นที่พระราชวังโดลมาบาห์เชในนครอิสตันบูลของตุรกี

ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี และนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เพื่อให้มีการทำข้อตกลงดังกล่าว ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามครั้งนี้

ปธน.เออร์โดกันกล่าวว่า การลงนามข้อตกลงส่งออกธัญพืชถือเป็นข่าวดีสำหรับชาวโลก ซึ่งจะช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านอาหาร และป้องกันประชากรโลกหลายพันล้านคนจากความอดอยาก และหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะถือเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกัน

ข้อตกลงฉบับนี้ช่วยฟื้นฟูการส่งออกธัญพืชจากยูเครนและรัสเซีย ซึ่งต่างก็เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมันพืช และปุ๋ยรายใหญ่ของโลก รวมทั้งช่วยคลี่คลายปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และคลายความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านอาหาร โดยทำให้มีการระบายธัญพืชของยูเครนจำนวนมากกว่า 20 ล้านตันซึ่งยังคงตกค้างอยู่ที่ท่าเรือในทะเลดำ นับตั้งแต่ที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว รัสเซียจะไม่โจมตีเรือขนส่งสินค้าของยูเครนในทะเลดำ ขณะที่ตุรกีจะทำการตรวจสอบเรือสินค้าเพื่อคลายความกังวลของรัสเซียเกี่ยวกับการลักลอบขนส่งอาวุธของยูเครน

นอกจากนี้ สหรัฐจะให้ความร่วมมือกับการส่งออกธัญพืชและปุ๋ยจากรัสเซีย โดยจะไม่คว่ำบาตรธนาคาร บริษัทเดินเรือ และบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าดังกล่าวจากรัสเซีย

*รัสเซียดับฝัน ฉีกข้อตกลง เปิดฉากยิงถล่มท่าเรือยูเครนซ้ำ

อย่างไรก็ดี ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังดูไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายลงแต่อย่างใด จนทำให้รัสเซียประกาศยุติการมีส่วนร่วมในข้อตกลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ข้อตกลงนี้หมดอายุ

นับตั้งแต่ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อปีที่ผ่านมานั้น ฝั่งรัสเซียได้แสดงความไม่พอใจมาตลอด โดยอ้างว่าฝั่งรัสเซียเสียเปรียบ เพราะรัสเซียถูกชาติตะวันตกชาติอื่น ๆ คว่ำบาตรจนทำให้ส่งออกได้ลำบากกว่าฝั่งยูเครน และได้เรียกร้องให้มีการทำข้อตกลงช่วยเหลือฝั่งรัสเซียมาตลอดแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

"ข้อตกลงทะเลดำได้สิ้นสุดลงในวันนี้ตามที่ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียระบุก่อนหน้านี้ว่าเส้นตายคือวันที่ 17 ก.ค. เป็นที่น่าเสียดายที่ว่าข้อตกลงในส่วนของรัสเซียไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้จนถึงขณะนี้ ดังนั้นข้อตกลงดังกล่าวจึงสิ้นสุดลงในวันนี้" นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินกล่าว

"ทันทีที่ข้อตกลงในส่วนของรัสเซียได้รับการตอบสนอง เราก็พร้อมจะกลับมาใช้ข้อตกลงดังกล่าวโดยทันที" นายเพสคอฟกล่าว และเสริมว่า การตัดสินใจไม่ต่ออายุข้อตกลงฉบับนี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่สะพานที่เชื่อมระหว่างรัสเซียและไครเมียถูกโจมตีในคืนก่อนหน้านั้น ซึ่งรัสเซียระบุว่าเป็นการก่อการร้ายที่มียูเครนอยู่เบื้องหลัง

ด้านนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติแสดงความเสียใจต่อการที่รัสเซียประกาศถอนตัวจากข้อตกลงส่งออกธัญพืชจากยูเครนผ่านเส้นทางทะเลดำ

อย่างไรก็ดี นายกูเตอร์เรสยืนยันว่า เขาจะยังคงใช้ความพยายามผลักดันให้มีการส่งออกอาหารและปุ๋ยจากรัสเซียและยูเครน

นอกจากนี้ รัสเซียยังประกาศยกเลิกการค้ำประกันความปลอดภัยด้านการเดินเรือในทะเลดำ หลังสิ้นสุดการบังคับใช้ข้อตกลงส่งออกธัญพืชจากยูเครนผ่านเส้นทางทะเลดำ และล่าสุดเมื่อวานนี้ (18 ก.ค.) รัสเซียได้ยิงถล่มท่าเรือในเมืองโอเดสซาของยูเครนด้วยขีปนาวุธและโดรน โดยเจ้าหน้าที่ยูเครนระบุว่า รัสเซียตั้งใจจะกลับมาปฏิบัติการรุกรานพื้นที่ทางตะวันออกอีกครั้ง

รัสเซียเริ่มปฏิบัติการโจมตีท่าเรือของยูเครน หลังลั่นวาจาว่ารัสเซียจะตอบโต้เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นบนสะพานของรัสเซียที่เชื่อมโยงระหว่างรัสเซียกับแคว้นไครเมียเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ซึ่งรัสเซียอ้างว่า การโจมตีดังกล่าวเป็นฝีมือของโดรนจากยูเครน

นายอังเดร เยอร์มัค ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนกล่าวผ่านเทเลแกรมว่า การโจมตีท่าเรือยูเครนในชั่วข้ามคืนของรัสเซียนั้นเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นที่บ่งชี้ว่า กลุ่มก่อการร้ายในรัสเซียต้องการทำร้ายประชากร 400 ล้านชีวิตในประเทศต่าง ๆ ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกอาหารจากยูเครน

*หวั่นอาหารแพงซ้ำรอยยุคโควิด

การฉีกข้อตกลงส่งออกธัญพืชและการที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนทันทีนั้นทำให้ทั่วโลกเกิดความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยหวั่นว่าราคาอาหารจะกลับมาแพงอีกครั้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดจนกระทบการส่งออกอาหารทั่วโลก

เมื่อไม่มีข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ยูเครนจะต้องเปลี่ยนเส้นทางไปส่งออกผ่านพรมแดนทางบกและท่าเรือเล็ก ๆ บนแม่น้ำดานูบแทน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นและเกษตรกรได้กำไรลดลง จนอาจทำให้เกษตรกรตัดสินใจทำการเพาะปลูกพืชผลน้อยลงในฤดูกาลหน้า และจะทำให้เกิดแรงกดดันต่ออุปทานในอนาคต

การยกเลิกข้อตกลงนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยปกติแล้ว ยูเครนส่งออกข้าวสาลีมากเป็นอันดับ 5 ของโลก หรือ 10% ของการส่งออกทั้งหมด ทั้งยังส่งออกข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด และน้ำมันเรพซีด ติดท็อป 3 ของโลก และส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก หรือ 46% ของทั้งหมด

เครือข่ายข้อมูลความมั่นคงด้านอาหาร (FSIN) เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้ว สงครามรัสเซีย-ยูเครน และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารใน 27 ประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนประชากรราว 84 ล้านคน

การยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวจะกระทบประเทศบางประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกามากที่สุด โดยการที่ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นจะดันราคาอาหารให้พุ่งสูงขึ้นตาม จากเดิมที่สูงอยู่แล้วเพราะราคาพลังงานแพง

*1 ปีส่งออกไปไหนบ้างแล้ว

นับตั้งแต่ที่ข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ มีการส่งออกธัญพืชจากทะเลดำไปแล้วเกือบ 33 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดและข้าวสาลี ตามมาด้วยกากทานตะวัน น้ำมันทานตะวัน และข้าวบาร์เลย์

สหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของสินค้าเกษตรไปแล้ว 45 ประเทศ โดยส่งออกไปจีนมากที่สุด (25% ของทั้งหมด) ตามมาด้วยสเปน ตุรกี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และอียิปต์

สหประชาชาติเปิดเผยว่า ข้อตกลงนี้ได้เข้ามากดราคาอาหารให้ถูกลงกว่า 20% แต่ฝั่งรัสเซียเปิดเผยว่า อาหารที่ส่งออกผ่านช่องทางที่ตกลงกันนั้นไม่ได้เข้าถึงประเทศยากจนแต่อย่างใด เพราะเกือบ 44% ของที่ส่งออกไปนั้นปลายทางอยู่ที่ประเทศรายได้สูง ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลผลิตจากข้อตกลงนี้ด้วย แต่ก็ไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยไทยได้รับข้าวสาลีไป 68,250 ตัน จากทั้งหมด 8,911,630 หรือไม่ถึง 1%

เมื่อประเมินจากข้อมูลของสหประชาชาติแล้ว ภูมิภาคเอเชียก็ดูจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง โดยเอเชียนำเข้าข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันดอกทานตะวันเป็นส่วนใหญ่ตามข้อตกลงนี้ การที่ข้อตกลงส่งออกธัญพืชของรัสเซียและยูเครนถูกยกเลิกก็น่าจะทำให้ราคาอาหารในเอเชียสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค จากเดิมที่เผชิญปัญหาอาหารแพงอยู่แล้ว และเอเชียก็มีผู้ที่ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกือบ 600 ล้านคน

*จับตาจีนเกลี้ยกล่อมรัสเซียร่วมวงอีกครั้ง

ขณะนี้ทุกสายตาต่างกำลังมองไปที่จีน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงนี้มากที่สุด โดยจีนนำเข้าธัญพืชตามข้อตกลงนี้ไปเกือบ 8 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวโพด กากทานตะวัน น้ำมันดอกทานตะวัน และข้าวบาร์เลย์ นำโด่งเหนืออันดับสองและสามอย่างสเปน (6 ล้านตัน) และตุรกี (3.2 ล้านตัน)

ชาติตะวันตกต่างหวังให้รัฐบาลจีนเข้ามาช่วยเกลี้ยกล่อมให้รัสเซียกลับมาทำข้อตกลงนี้อีกครั้ง เพราะจีนเป็นพันธมิตรที่มีอิทธิพลเป็นอันดับต้น ๆ ของรัสเซีย ขณะที่รัสเซียเองก็ไม่ได้ปิดกั้นตัวเองว่าจะกลับมาเจรจาไม่ได้ ทางการสหรัฐและยูเครนแสดงความหวังว่ารัสเซียจะเข้าร่วมข้อตกลงนี้อีกครั้ง หลังจากที่ฝั่งรัสเซียเรียกร้องที่จะส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรได้มากกว่านี้ โดยรัสเซียมองว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอาหารจากรัสเซีย

ด้านจีนเองก็มีเหตุจำเป็นให้ต้องออกมาแสดงท่าทีด้วยเช่นกัน โดยจีนนำเข้าข้าวโพดจากยูเครนเกือบ 30% ของที่นำเข้าทั้งหมด แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาจีนก็พยายามผลักดันที่จะผลิตข้าวโพดเองให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ

ยูเครนเป็นแหล่งข้าวโพดที่ถูกที่สุดสำหรับจีน เพราะจีนได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้แล้ว การที่ยูเครนส่งออกทางทะเลดำไม่ได้จะทำให้จีนนำเข้าข้าวโพดได้แพงขึ้น เพราะต้องไปแย่งนำเข้าจากบราซิล สหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย

แพทริเซีย ฟลอร์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำกรุงปักกิ่งได้เรียกร้องทางการจีนผ่านสำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ว่า "เราขอให้จีนสนับสนุนการขยายข้อตกลงดังกล่าวและคุยกับรัสเซีย" โดยจีนจะ "ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดอาหารโลกได้"

ด้านนายอิกอร์ ออสมัคโก (Igor Osmachko) ผู้บริหารบริษัทส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ในแถบทะเลดำ ได้ขอให้จีนออกมาช่วยด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า "เราหวังว่ารัฐบาลจีนจะเข้ามามีบทบาทในการขยายอายุโครงการส่งออกธัญพืช เพื่อให้ยูเครนส่งออกให้กับจีนต่อไปได้ และช่วยไม่ให้จีนและประเทศอื่น ๆ เผชิญกับปัญหาอาหารแพง"

ทั้งนี้ การที่รัสเซียประกาศถอนตัวจากข้อตกลงส่งออกธัญพืชจากยูเครนผ่านเส้นทางทะเลดำได้ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อให้ข้อตกลงนี้กลับมามีผลบังคับใช้อีกให้ได้

ในระหว่างนี้ หลาย ๆ ประเทศก็มีโจทย์ให้ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหารให้ได้ เช่น เพิ่มการผลิตอาหารภายในประเทศและนำเข้าอาหารจากแหล่งอื่น ๆ ขณะที่คนทั่วไปอย่างเรา ๆ ก็มีส่วนช่วยได้ ไม่ว่าจะด้วยการซื้อสินค้าเกษตรที่ผลิตภายในประเทศ และพยายามไม่กินทิ้งกินขว้าง เพื่อพยายามที่จะเอาชนะปัญหาที่ท้าทายนี้ไปด้วยกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ