In Focusแผนญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเล แท้จริงแล้วปลอดภัยกว่าที่คิด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 23, 2023 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

In Focus สัปดาห์นี้จะพาทุกท่านไปสำรวจเรื่องการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่นลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (24 ส.ค.) พร้อมเสนอว่า ถึงแม้แผนดังกล่าวจะได้รับเสียงคัดค้านจากประเทศเพื่อนบ้านรวมไปถึงคนญี่ปุ่นบางส่วนเองก็ตาม แต่น้ำที่ปล่อยนั้นมีความปลอดภัยมากกว่าที่กังวลกัน

*น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีนี้มาจากไหน ทำไมต้องปล่อยลงทะเล

น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่เป็นประเด็นในขณะนี้เป็นผลพวงจากภัยพิบัติเมื่อ 12 ปีก่อน โดยเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 เวลาประมาณ 12.45 น. ตามเวลาไทย เกิดแผ่นดินไหว 9 แมกนิจูดทางชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น แล้วจากนั้นจึงเกิดเป็นคลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาซัดถล่มบ้านเรือน ไปจนถึงตัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะจนได้รับความเสียหายร้ายแรงและทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา

หลังได้รับความเสียหาย ทางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะต้องใช้น้ำปริมาณมากเพื่อหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องระเบิด แน่นอนว่าน้ำหล่อเย็นเหล่านี้ในที่สุดย่อมปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ทางบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค (TEPCO) ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวจึงนำน้ำเหล่านี้ไปเก็บไว้ตามแทงก์รอบ ๆ โรงไฟฟ้าจนทุกวันนี้มีปริมาณประมาณ 1.3 ล้านตัน ซึ่งมากพอจะนำไปเทใส่สระว่ายน้ำที่ใช้แข่งโอลิมปิกได้ถึง 500 สระ และขณะนี้ทาง TEPCO ก็กำลังจะไม่มีสถานที่จัดเก็บน้ำดังกล่าวภายในปีนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ TEPCO และรัฐบาลญี่ปุ่นจึงตัดสินใจเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี โดยจะทยอยปล่อยลอตแรกเป็นจำนวน 7,800 ลูกบาศก์เมตร ตลอดระยะเวลา 17 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.นี้เป็นต้นไป และกว่าจะปล่อยน้ำทั้งหมดได้ก็คาดว่าจะใช้เวลาอีก 30 ปีต่อจากนี้

*ประเทศเพื่อนบ้านค้านหัวชนฝา "มหาสมุทรไม่ใช่ท่อระบายน้ำส่วนตัวของญี่ปุ่น"

แผนดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีนที่นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาตำหนิแผนปล่อยน้ำของญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาว่า "มหาสมุทรเป็นสมบัติร่วมของมนุษยชาติ ไม่ใช่ท่อระบายน้ำส่วนตัวของญี่ปุ่น" และระบุว่า แผนการดังกล่าวเป็นความ "เห็นแก่ตัวและไร้ความรับผิดชอบที่สุด"

ต่อมาในเดือนก.ค. นายหวังกล่าวว่า การที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งกองทุนวงเงิน 8 หมื่นล้านเยนเพื่อชดเชยแก่อุตสาหกรรมประมงในบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ถือเป็นการใช้เงินปิดปากชาวญี่ปุ่น โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งประเทศและหมู่เกาะในแปซิฟิกที่อยู่ใกล้กับญี่ปุ่น

"ถ้าน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ถูกปล่อยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่มีอันตรายจริง ทำไมมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมประมงในฟูกูชิมะจะได้รับผลกระทบ ถ้าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากการรู้สึกสำนึกผิด ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นต้องพยายามปิดปากประชาชนด้วยการให้เงินชดเชย"

"คำตอบที่สมเหตุสมผลก็คือ มันต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดปกติเกี่ยวกับน้ำที่ถูกปล่อยออกมา" นายหวังกล่าว

ด้านนายจอห์น ลี ผู้นำฮ่องกงก็ออกมาพูดในทำนองเดียวกันเมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) ว่า การปล่อยน้ำลงทะเลนั้นเป็นการกระทำที่ "ไร้ความรับผิดชอบ" และก่อให้เกิด "ความเสี่ยงที่ไม่อาจจินตนาการได้ต่อความปลอดภัยของอาหาร รวมทั้งสร้างมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้"

เพื่อกดดันให้ญี่ปุ่นล้มเลิกแผนการปล่อยน้ำ จีนจึงได้ออกมาตรการทดสอบรังสีแบบเป็นวงกว้างต่อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากญี่ปุ่น และสั่งห้ามนำเข้าอาหารจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น ในทำนองเดียวกัน ฮ่องกงออกประกาศเมื่อเดือนก.ค.ว่าจะแบนการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งได้แก่ โตเกียว, ฟูกูชิมะ, ชิบะ, โทชิกิ, อิบารากิ, กุนมะ, มิยากิ, นีงาตะ, นางาโนะ และไซตามะ โดยงดนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งมีชีวิต, แช่แข็ง, แช่เย็น, อบแห้ง รวมไปถึงเกลือทะเลและสาหร่ายทะเล

นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นบางส่วนเองก็ออกมาประท้วงด้วย โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ราว 230 คนได้รวมตัวกันหน้าสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นฟังเสียงของกลุ่มชาวประมง และอย่าปล่อย "น้ำปนเปื้อน" ลงสู่ทะเล หลังจากที่นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศว่าจะเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วในวันที่ 24 ส.ค.นี้

ในอีกด้านหนึ่ง เกาหลีใต้มีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ต่อเรื่องดังกล่าว โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่าไม่พบปัญหาเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงเทคนิคในแผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่น แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเกาหลีใต้เห็นชอบหรือสนับสนุนแผนดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้และพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (DPK) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของประเทศ กลับต่อต้านแผนการครั้งนี้ โดย DPK เรียกแผนการของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า "เห็นแก่ตัวและขาดความรับผิดชอบ" ขณะที่สมาชิกพรรคบางส่วนจะเดินทางไปยังสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซลเพื่อยื่นเรื่องประท้วง

*น้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทร ปลอดภัยกว่าที่คิด

ถึงแม้จะเผชิญเสียงวิจารณ์อย่างหนักตามที่กล่าวมาแล้ว แต่หากเรามาดูข้อเท็จจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ จะพบว่า น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกนั้นมีความปลอดภัยกว่าที่คาดกัน

TEPCO ให้ข้อมูลว่า น้ำที่จะถูกปล่อยลงสู่ทะเลในครั้งนี้จะผ่านการบำบัดโดยใช้ระบบแปรรูปของเหลวขั้นสูง หรือ ALPS (Advanced Liquid Processing System) โดยกระบวนการบำบัดน้ำด้วยระบบ ALPS นี้จะช่วยกำจัดนิวไคลด์กัมมันตรังสี (radionuclide) ที่ปนเปื้อนในน้ำไปถึง 62 ชนิด เหลือเพียงทริเทียม (tritium) หรือไอโซโทปไฮโดรเจน ที่ถูกเจือจางให้น้อยกว่า 1,500 เบกเคอเรล/ลิตร ซึ่งถือว่าน้อยกว่าความเข้มข้นตามมาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่นถึง 40 เท่า

แม้ทริเทียมจะเป็นสารกัมมันตรังสีที่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ แต่มนุษย์ต้องบริโภคทริเทียมเข้าไปหลายพันล้านเบกเคอเรลถึงจะเริ่มส่งผลเสียต่อสุขภาพ ส่วนน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่จะปล่อยลงมหาสมุทรพรุ่งนี้มีทริเทียมแค่ประมาณ 190 เบกเคอเรล/ลิตร ซึ่งต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่าน้ำดื่มได้ต้องมีทริเทียมไม่เกิน 10,000 เบกเคอเรล/ลิตร

อนึ่ง ในบริเวณที่ทำการเจือจางของโรงไฟฟ้านั้นใช้ 3 ปั๊มขนาดใหญ่ดูดน้ำทะเลผสมกับสารเคมีบำบัดน้ำต่าง ๆ เพื่อให้ทริเทียมมีความเข้มข้นต่ำกว่าข้อกำหนดมาก ๆ โดย TEPCO เปิดเผยว่า น้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดทั้งหมดแล้วจะถูกเจือจางไปมากกว่า 350 เท่า

จากนั้น น้ำที่เจือจางแล้วนี้ถูกนำไปเก็บไว้แทงก์เพื่อทำการทดสอบเพิ่มเติม จากนั้นน้ำจะไหลผ่านไปยังท่อส่งที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน แล้วเดินทางผ่านอุโมงค์ระบายน้ำที่ทอดยาวไปใต้ก้นทะเลเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร จากนั้น ปากท่อที่ติดตั้งอยู่ใต้ผิวทะเลประมาณ 12 เมตรจะปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ด้านสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ UN ก็ไฟเขียวแผนการดังกล่าว โดยเปิดเผยในรายงานขั้นสุดท้ายเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า หลังจากที่ได้ทบทวนมา 2 ปี แผนการของญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรนั้น เป็นไปตามมาตรฐานสากลและจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียง "เล็กน้อย"

ประเด็นนี้ดูเผิน ๆ แล้วอาจเข้าใจผิดว่ามีแค่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเท่านั้นที่ปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเล ก็เลยเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต แต่แท้จริงแล้ว การปล่อยน้ำหล่อเย็นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเลถือเป็นเรื่องปกติที่ทั่วโลกต่างก็ทำกันทั้งสิ้น

ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ คาดว่าจะมีการปล่อยน้ำที่มีทริเทียม 22 ล้านล้านเบกเคอเรลต่อปี ตัวเลขนี้อาจฟังดูเยอะมาก แต่ถ้าเทียบประเทศอื่น ๆ แล้ว ของญี่ปุ่นถือว่าน้อยด้วยซ้ำไป

เมื่อเปรียบเทียบแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หงหยานเหอของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่วิจารณ์แผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นอย่างหนัก มีการปล่อยน้ำที่มีทริเทียม 87 ล้านล้านเบกเคอเรลต่อปี สูงกว่าของฟูกูชิมะเกือบ 4 เท่า ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โกรีของเกาหลีใต้ก็มีการปล่อยน้ำที่มีทริเทียม 91 ล้านล้านเบกเคอเรลต่อปี

โดยสรุปแล้ว แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่นลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกนั้น มีความปลอดภัยยิ่งกว่าที่มาตรฐานสากลกำหนดและปลอดภัยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของอีกหลาย ๆ ประเทศ และขอปิดท้ายด้วยคำกล่าวจากนายโทนี เออร์วิน รองศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ไว้ดังนี้

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกมีการปล่อยน้ำที่มีทริเทียมอยู่เป็นประจำเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้วโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนหรือสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่ได้ทำการปล่อยน้ำที่มีทริเทียมออกมาในระดับที่สูงกว่า 22 ล้านล้านเบกเคอเรลต่อปีของฟูกูชิมะด้วยซ้ำไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ