Media Talk: Live Streaming Video ตัวช่วยชาวพีอาร์มัดใจสื่อโทรทัศน์

ข่าวต่างประเทศ Friday July 1, 2016 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำหรับนักประชาสัมพันธ์และผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อแล้ว ไลฟ์ สตรีมมิ่ง วิดีโอ ถือเป็นเครื่องมือและโอกาสที่จะช่วยชิงพื้นที่สื่อได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่เทคโนโลยีนี้มักจะถูกมองข้ามไป

ด้วยเหตุนี้ ชาวพีอาร์ที่มีโอกาสนำเสนอคอนเทนต์ให้กับสื่อโทรทัศน์ ควรจะลองก้าวออกจากกรอบเดิมๆ แล้วมองหาช่องทางที่นอกเหนือไปจากการออกอากาศทั่วไป

สำหรับสื่อโทรทัศน์แล้ว โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการหาข่าวและช่องทางสื่อสารกับผู้ชมเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้เป็นช่องทางบอกเล่าข่าวของสถานีด้วยเช่นกัน แม้ว่า ในขณะนั้นทางสถานีไม่ได้มีตารางที่จะรายงานข่าวก็ตาม

*ห้ามพลาด Live Streaming Video

"ไลฟ์ สตรีมมิ่ง วิดีโอ จะช่วยเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ของลูกค้าออกสู่สายตาผู้ชมได้มากขึ้น" มิเชล หลี่ (@MichelleLiTV) ผู้ประกาศข่าวยอดเยี่ยมจากช่อง WISC-TV ของสำนักข่าว CBS ประจำเมืองเมดิสัน รัฐวิสคอนซิน กล่าว "คุณต้องผลักดันให้ลูกค้าใช้การสัมภาษณ์ผ่านเว็บแคม เพื่อให้ภาพของลูกค้าปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์"

เพราะเธอบอกว่า การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์นั้นทำให้ "รายการโทรทัศน์ดูแย่"

*ผู้ประกาศข่าวชื่อดังในสหรัฐกับโซเชียลมีเดีย

ปัจจุบัน มิเชล หลี่ มีผู้ติดตามบนโซเชียลเน็ตเวิร์กจำนวนมาก เธอมีผู้ติดตามบนกูเกิ้ล พลัส ถึง 670,000 คน และเมื่อไม่นานมานี้ เธอได้เปิดแอคเคาท์ทวิตเตอร์ไว้สำหรับพูดคุยเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในหมู่นักจัดรายการโทรทัศน์ ในระหว่างการแชทผ่าน #ConnectChat หลี่ได้นำเสนอทิปต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่ทำงานด้านประชาสัมพันธ์ซึ่งสนใจในเรื่องของการดึงดูดความสนใจด้วยรูปแบบของข่าวที่รายงานทางสื่อโทรทัศน์

“คุณจะต้องใช้ความพยายามในทุกๆวัน" หลี่ได้พูดถึงบทบาทของเธอผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม สแนปแชท เพริสโคป ยูทูป และอื่น ๆ อีกมากมาย “มีเครื่องมือมากมายที่จะคอยทำให้คุณแอ็คทีฟอยู่ตลอดเวลา"

หลี่ได้แบ่งปันความรู้กับผู้ที่ร่วมติดตามแชท #ConnectChat ผ่านทางวิดีโอ ซึ่งผู้ชมจะได้มองเห็นบรรยากาศภายในห้องประกาศข่าวของ WISC-TV ว่า นักข่าวใช้โซเชียลมีเดียเพื่อยกระดับผลงานของตนเองได้อย่างไร

*โซเชียลมีเดียกับการรายงานสดข่าวภัยพิบัติและเหตุจลาจลในสหรัฐ

ยกตัวอย่างเช่นช่วงที่เกิดพายุทอร์นาโด ทางสถานีได้ใช้โซเชียลมีเดียถ่ายทอดสดภาพเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นให้ผู้ชมทางบ้านได้เห็นในขณะที่ทีมงานกำลังเก็บภาพและรายงานข่าวไปด้วย หรือช่วงที่เกิดเหตุจลาจลที่เมืองเฟอร์กูสัน ที่ทางสถานีได้พูดคุยกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ผ่านการสัมภาษณ์สดทางวิดีโอที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต จะถูกบันทึกและนำไปตัดต่อโดยกองบรรณาธิการเพื่อใช้ออกอากาศต่อไป

การถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดียจึงไม่เพียงเรียกผู้ชมได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้การทำงานของนักข่าวสะดวกมากขึ้น เนื่องจากผู้ดูแลเว็บไซต์สามารถรับชมภาพเหตุการณ์จริงโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่และสามารถนำภาพเหตุการณ์ที่ได้มาแก้ไขเพื่อออกอากาศทางสื่อต่างๆต่อไปได้

สำหรับมืออาชีพด้านการประชาสัมพันธ์ที่ต้องการทำงานร่วมกับสื่อโทรทัศน์ โซเชียลมีเดียยังสามารถสร้างความโปร่งใสได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง อีกทั้งยังสามารถจุดประกายแบบที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักให้กับโลกของสื่อโทรทัศน์ได้

ด้วยการรายงานข่าวในรูปแบบที่โปร่งใสดังกล่าว ทุกคนจึงรู้กันดีว่าผู้สื่อข่าวรายงานข่าวอะไรบ้าง และอะไรคือสิ่งที่นักข่าวให้ความสนใจในช่วงเวลาต่างๆ

หลี่ แนะนำว่า "คุณควรจะมีปฏิสัมพันธ์จริงๆ ต้องมีส่วนร่วมในการเดินทางเพื่อค้นพบ และไม่เสแสร้ง" พร้อมกล่าวว่า การนำเสนอข่าวจะต้องทันเหตุการณ์และรวดเร็ว หากคุณมีวิดีโอที่ถ่ายทำไว้แล้ว คุณสามารถเสนอให้กับห้องข่าวได้ แต่เป็นที่รู้กันว่า นักข่าวชอบที่จะถ่ายวิดีโอด้วยตัวเองมากกว่าและมีแนวโน้มว่า จะดึงวิดีโอมาจากสถานีเครือข่ายมาใช้งานในกรณีที่ทีมงานท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปถ่ายทำเองได้

*หากจะทำคลิปวิดีโอให้นักข่าวแล้ว อย่าลืมว่า ประเด็นต้องปัง!

โดยทั่วไปแล้ว สถานีข่าวจะหลีกเลี่ยงการออกอากาศคอนเทนต์สำเร็จรูป เว้นเสียแต่ว่าคลิปวิดีโอนั้นมีบางสิ่งบางอย่างที่สามารถดึงดูดสายตาผู้ชม

"ในความคิดของฉัน นักข่าวชอบข่าวที่มีผู้มานำเสนอให้ แต่ที่สำคัญที่สุด สิ่งที่นำมาเสนอนั้นต้องมีเนื้อเรื่องที่ดี มีความน่าสนใจเหมาะสมที่จะเป็นข่าวได้ มีบุคลากรในแวดวงประชาสัมพันธ์หลายรายมานำเสนอข่าวที่ไม่มีความน่าสนใจให้กับเรา ซึ่งถ้าคุณเป็นที่จดจำจากข่าวพีอาร์ในทำนองนี้แล้วละก็เราก็จะเริ่มมองข้ามอีเมลของคุณไป แต่ถ้าเราเห็นว่า ข่าวของคุณมีจุดแข็งที่น่าสนใจ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะปฏิเสธลง เราก็จะเอาไปบอกต่อทีมข่าวของเรา และมีโอกาสเล่นเป็นข่าวใหญ่ด้วย"

เวส เบนเตอร์ ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบริการชุมชนออนไลน์อาวุโสของ ProfNet ซึ่งเป็นบริการที่เชื่อมสื่อมวลชนเข้ากับแหล่งข่าวที่มีความเชี่ยวชาญ เขาเคยเป็นครีเอทีฟโปรดิวเซอร์ให้กับโครงการ MultiVu ของ PR Newswire และก่อนหน้านี้เวสยังเคยทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ รวมถึงนักพยากรณ์อากาศของเครือข่ายพันธมิตรในมิดเวสต์ด้วย เรียนรู้และติดตามเรื่องราวของเวส เบนเตอร์ ได้ที่ทวิตเตอร์ @WBenter

ที่มา: พีอาร์นิวส์ไวร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ