Media Talk: 5 เทคนิคใช้ Google เสิร์ชข้อมูลแบบมือโปร

ข่าวต่างประเทศ Monday July 20, 2020 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทุกวันนี้ การหาข้อมูลต่าง ๆ บนโลกออนไลน์นั้นแสนจะสะดวก แค่ใส่คีย์เวิร์ดลงบนช่องเสิร์ชของกูเกิล กดเอ็นเตอร์ เพียงเท่านี้ เว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วโลกก็จะขึ้นมาปรากฎตรงหน้าในเวลาเพียงเสี้ยววินาที

อย่างไรก็ตาม วิธีการเสิร์ชอย่างมีประสิทธิภาพนั้นอาจจะไม่ได้ง่ายสักเท่าไร เนื่องจากหลายครั้งที่เราเสิร์ชไม่พบข้อมูลเฉพาะทางที่เราต้องการ ซึ่งเบื้องหลังของการหาข้อมูลเหล่านั้นไม่พบเกิดจากอัลกอรึทึมของกูเกิล ด้วยเหตุนี้ Media Talk จึงขอนำเสนอเทคนิคดี ๆ จากพีอาร์นิวส์ไวร์ที่จะช่วยให้การเสิร์ชข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม!

1. เสิร์ชแบบเจาะจงโดเมนเว็บไซต์

หากต้องการหาข้อมูลบนเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง ให้ใส่คีย์เวิร์ดที่ต้องการค้นหา และตามด้วย "site:domain.com" (แทนที่domain.com ด้วยชื่อเว็บไซต์ที่ต้องการค้นหา) เช่น "blizzcon site:prnewswire.com" เราก็จะพบกับข่าวประชาสัมพันธ์ของ Blizzcon ที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของ prnewswire ซึ่งการเสิร์ชแบบนี้ถือเป็นการกำหนดการค้นหาแบบอินเด็กซ์เพียงอินเด็กซ์เดียว

2. เสิร์ชหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลวิชาการหรือหน่วยงานรัฐเท่านั้น เมื่อต้องการผลลัพธ์การค้นหาที่มีคุณภาพมากขึ้น

หากต้องการผลลัพธ์การค้นหาที่มีคุณภาพมากขึ้น หรือต้องการแหล่งที่มาของข้อมูลจากทางวิชาการเท่านั้น เราสามารถเสิร์ชแบบแอดวานซ์ขึ้นไปอีกขั้นด้วยการนำเทคนิคที่กล่าวถึงไปแล้วในข้อ 1 มาปรับใช้เพิ่มเติม โดยเปลี่ยนจากการใส่ชื่อโดเมนมาเป็น "site:.gov" หรือ "site:.edu" เพื่อหาข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันทางวิชาการเท่านั้น การใช้คีย์เวิร์ดดังกล่าวจะช่วยกรองข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็วขึ้น เพราะได้มีการคัดกรองเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำธุรกิจออกไปแล้ว

หมายเหตุ: แม้ว่า การใช้คีย์เวิร์ด ".org" จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์จากเว็บไซต์ขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่เราก็ควรจะกรองข้อมูลอย่างละเอียดด้วยตัวเองอีกครั้ง เนื่องจากใคร ๆ ก็สามารถลงทะเบียนเพื่อขอใช้โดเมนที่ลงท้ายด้วย .org ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากโดเมน .gov ที่จะต้องใช้จดหมายรับรองจากองค์กรของรัฐเท่านั้น รวมถึงโดเมน .edu ซึ่งจะต้องลงทะเบียนผ่าน EDUCAUSE หรือกลุ่มสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกา ภายใต้การกำกับดูแลโดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมอบให้แก่สถาบันที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น

3. ใช้เครื่องหมายและคำเชื่อมให้เป็นประโยชน์

กูเกิลเป็นเสิร์ชเอนจิ้นที่โด่งดังและได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากเป็นเจ้าแรกที่ไม่ได้ใช้ตรรกะแบบบูลีนในการค้นหา (การนำคำเชื่อมมาใช้ในการสืบค้น) แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะหยิบเทคนิคเหล่านั้นมาใช้ไม่ได้

  • สามารถใส่เครื่องหมายอัญประกาศ หรือ " " ครอบคีย์เวิร์ดที่ต้องการ เพื่อเสิร์ชชุดคำที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น แทนที่จะใส่คำเดี่ยว ๆ แล้วเคาะเว้นวรรค โดยวิธีการนี้ยังเหมาะกับการตรวจสอบกรณีการคัดลอกผลงาน (Plagiarism) อีกด้วย
  • เพิ่มเครื่องหมาย - ไว้หน้าคำที่เราไม่ต้องการให้ปรากฎในผลลัพธ์การค้นหา และเครื่องหมาย ~ เพื่อเปิดทางให้คำที่ใกล้เคียงปรากฎในผลลัพธ์การค้นหา ตัวอย่างเช่น การเสิร์ช "~orioles -baltimore -baseball" จะทำให้เสิร์ชเจอชนิดของนก โดยไม่มีข้อมูลของทีมเบสบอลขึ้นมาในผลลัพธ์ของการค้นหาแต่อย่างใด
  • เพิ่มคีย์เวิร์ด "filetype:" เพื่อหาคอนเทนต์ที่ไม่ใช่ HTML ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถเสิร์ช "filetype:pdf" หรือ "filetype:doc" เพื่อดาวน์โหลดไฟล์เกี่ยวกับข้อมูลที่เราต้องการค้นหา

4. ใช้ Google News เพื่อหาข้อมูลจากเว็บข่าวโดยตรง

ผลลัพธ์การเสิร์ชจาก Google News นั้นมีความแตกต่างจากกูเกิ้ลเสิร์ชปกติ แต่รู้หรือไม่ว่ากูเกิ้ลมีข้อมูลหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ย้อนหลังไปจนถึงช่วงทศวรรษที่ 80

แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวอาจจะไม่ได้ละเอียดถี่ถ้วนมากนัก แต่เราก็สามารถค้นหาข้อมูลบนหนังสือพิมพ์และวารสารได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ห้องสมุด โดยเราสามารถหาข้อมูลดังกล่าวได้ผ่านการเพิ่ม "site:news.google.com/newspapers" หลังคีย์เวิร์ดที่เราต้องการค้นหา

5. ค้นหาแหล่งที่มาของรูปภาพ

เราสามารถใช้ฟังก์ชัน "ค้นหาด้วยภาพ" ได้ เมื่อต้องการเช็คแหล่งที่มาของรูปภาพนั้น ๆ ว่าเคยไปโพสต์บนเว็บไซต์ใดมาบ้าง โดยเข้าไปที่ Google Image หลังจากนั้นก็คลิกที่ไอคอนกล้อง และอัพโหลดภาพที่ต้องการ (หรือวาง URL ของภาพได้เช่นกัน)

ประโยชน์ของฟังก์ชันนี้คือ เราสามารถทบทวนเกี่ยวกับที่มาของภาพได้ ในกรณีที่ภาพดังกล่าวอาจทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เช่น ภาพที่มีลักษณะของการให้ร้าย หรือการขโมยผลงานผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกัน ฟังก์ชันนี้ยังช่วยให้เราค้นพบรูปภาพที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน หรือได้ภาพที่คมชัดกว่าเดิม และยังสะดวกต่อการค้นหาโลโก้ของบริษัทต่าง ๆ ด้วย

ที่มา: พีอาร์นิวส์ไวร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ