Media Talk : ส่องความเคลื่อนไหวล่าสุดเทคโนโลยี AI จากแดนมังกร ผ่าน 3 กรณีศึกษา

ข่าวทั่วไป Friday June 21, 2019 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลกด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ด้วยความได้เปรียบของจำนวนประชากรตลอดจนบุคคลากรที่มีศักยภาพ จีนเดินหน้าอย่างเต็มกำลังสำหรับการมุ่งพัฒนานวัตกรรมที่ล้ำสมัยภายในประเทศ เช่น โปรแกรมจดจำใบหน้า แอปพลิเคชั่นการพูดคุย มาจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงิน

กูรูจากแวดวงสตาร์ทอัพจีน บนเวที Techsauce Global Summit 2019 ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์เทคโนโลยี AI ล่าสุดของจีน ภายใต้การสัมมนาหัวข้อ "Dragonising The AI : Will China Dominate The World Of AI?

วิลเลียม เป่า บีน หุ้นส่วนทั่วไปของ SOSV VC ระดับโลก และกรรมการผู้จัดการ Chinaaccelerator เปิดเผยบนเวทีว่า ปัจจุบัน บริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนได้ลงทุนเม็ดเงินกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เพื่อพัฒนา AI สำหรับทุกผลิตภัณฑ์ พร้อมกันนี้ วิลเลียมได้หยิบยก 3 กรณีศึกษาเพื่อยกตัวอย่างของการนำ AI ที่ได้มีการใช้งานจริงในบริษัทของแดนมังกร ในกรณีแรก Visa (วีซ่า) บริษัทข้ามชาติด้านการเงินสัญชาติอเมริกัน ที่ต้องการเจาะตลาดจีนอยู่หลายปีนั้น บริษัททุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งอย่าง UnionPay (ยูเนียนเพย์) บริษัทด้านบัตรเครดิตระดับชั้นนำของจีน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งบริษัทได้แก้ปัญหาด้วยการจ้างบริษัทสตาร์ทอัพ Rikailbas สัญชาติจีน ซึ่งทำ Chatbot ให้กับหลายๆบริษัทในจีน ได้สร้างโปรแกรม TravelBot ที่มีลักษณะเหมือนกับที่ปรึกษาด้านการเดินทางแบบส่วนตัว สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศ ด้วยวิธีนี้ Visa จึงสามารถทำการตลาดผ่านบทสนทนาระหว่าง TravelBot กับผู้ใช้งาน พร้อมเสนอแคมเปญและโฆษณาได้อย่างแนบเนียน ดังนั้น Visa จึงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชาวจีนได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการตอบสนองต่อการโพสต์ โฆษณา การมีส่วนร่วมกับแบรนด์เพิ่มสูงขึ้นถึง 52%

นอกจากการจัดการกับปัญหาเชิงธุรกิจแล้ว บริษัทจีนได้ยังนำเทคโนโลยี AI มาสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนในท้องถิ่น วิลเลียมได้อธิบายกรณีศึกษาที่ 2 จากแอปพลิเคชั่น PandaBus ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเส้นทางรถโดยสารประจำทางที่มีลักษณะคล้ายแอปพลิเคชั่น Grab แต่เปลี่ยนจากการให้บริการรถยนต์เคลื่อนที่มาเป็นรถโดยสารประจำทาง สิ่งที่แปลกใหม่สำหรับแอพพลิเคชั่นนี้คือคอยช่วยค้นหาเส้นทางเดินรถบริเวณใกล้เคียง พร้อมเสนอแส้นทางการเดินทางหลายตัวเลือกในเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้ใช้งานประหยัดเวลาในการนั่งรอที่ป้ายประจำทาง จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี AI กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนจีนแทบจะทุกพื้นที่

สำหรับกรณีศึกษาสุดท้ายนั้น วิลเลียม ระบุว่า Miro สตาร์ทอัพด้านกีฬาจากฮ่องกง ได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้เก็บข้อมูลร่างกาย (Body Data) ของนักกีฬา ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการจัดงานแข่งวิ่งมาราธอน ทางบริษัทก็จะคอยเก็บข้อมูลทั้งรูปแบบภาพและวีดีโอของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อนำข้อมูลจำนวนมหาศาลมาจัดทำดัชนีและวิเคราะห์ เช่น การเคลื่อนไหวของเท้าเป็นรูปแบบใด นักกีฬาแต่ละคนตัดสินใจเคลื่อนไหวอย่างไร เนื้อผ้าแบบใดที่เหมาะแก่การวิ่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเสื้อกีฬา รองเท้ากีฬา หรือแม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับ นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน 2560 ทาง Miro ได้จัดทำดัชนีและวิเคราะห์นักกีฬามานับล้านคนแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ