เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ในฐานะประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council — HRC) ได้นำเสนอรายงานประจำปีของ HRC ต่อสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๖๕ ที่นครนิวยอร์ก โดยนายสีหศักดิ์ฯ ได้กล่าวสรุปผลการดำเนินงานช่วงสมัยการประชุมของ HRC ระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๕๒ — มิถุนายน ๒๕๕๓ (ซึ่งอยู่ในช่วงภายใต้การปฏิบัติหน้าที่ของประธาน HRC คนก่อนคือ นาย Alex Van Meeuwen เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรเบลเยียมประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา) และการดำเนินงานในช่วงการประชุม HRC สมัยที่ ๑๕ ในเดือนกันยายน ๒๕๕๓ (ซึ่งอยู่ในช่วงภายใต้การปฏิบัติหน้าที่ประธานครั้งแรกของไทย) ประเด็นสำคัญของรายงานฯ สรุป มีดังนี้
(๑) ความก้าวหน้าของการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ซึ่งเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ HRC โดยทุกประเทศจะต้องเสนอรายงานภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนต่อ HRC อย่างเท่าเทียมกัน ขณะนี้มี ๑๒๗ ประเทศที่ผ่านกระบวนการทบทวนแล้ว ซึ่งเป็นจำนวน ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด ส่วนสมาชิกที่เหลือจะเข้าสู่กระบวนการทบทวนครบทุกประเทศภายใน=ต้นปี ๒๕๕๕
(๒) การสร้างมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน HRC ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งผู้เชี่ยวชาญอิสระ ๕ คน ว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรีในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและรายงานต่อ HRC ในประเด็นดังกล่าว การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาสิทธิเด็กว่าด้วยการรับข้อร้องเรียน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในคณะทำงานฯ ดังกล่าวด้วย
(๓) การจัดทำกระบวนการทบทวนสถานะและการดำเนินงานของ HRC ในช่วงระยะเวลา ๕ ปีภายหลังจากที่ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรฯ จากคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Commission on Human Rights- CHR) เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในปัจจุบัน เป้าหมายการทบทวนภายใต้การเป็นประธาน HRC ของไทยคือ การทำให้ HRC สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีมากขึ้น รวมทั้งการจัดระบบการทำงานของ HRC ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
นายสีหศักดิ์ฯ ยังได้กล่าวย้ำว่าการดำเนินงานของตนในฐานะประธาน HRC จะยึดหลักส่งเสริมแนวทางความร่วมมือและการหารืออย่างสร้างสรรค์ สร้างขีดความสามารถให้กับ HRC เพื่อสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่ และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการทำงานของ HRC เพื่อช่วยกันเสริมสร้างความก้าวหน้าในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : [email protected]จบ--