เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้บรรยายสรุปให้แก่คณะทูต ๕๐ ประเทศฟัง เกี่ยวกับผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๑๘ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ข่าวต่างประเทศ Monday May 23, 2011 08:20 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้บรรยายสรุปให้แก่คณะทูต ๕๐ ประเทศฟัง เกี่ยวกับผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๑๘ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑. ประเทศไทยได้เสนอสูตร “3Cs” สำหรับการให้อาเซียนเป็นองค์การภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จ กล่าวคือ (๑) การมีความน่าเชื่อถือ — credibility (๒) การเป็นศูนย์กลาง - centrality และ (๓) การมีความเชื่อมโยง - connectivity

๒. ในการนี้ อาเซียนได้กำหนดเป้าหมาย ทั้ง (๑) ในระดับอาเซียน (ASEAN level) เพื่อให้บรรลุการเป็นประชาคมอาเซียน (๒) ในระดับภูมิภาค (Regional level) เพื่อเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคโดยมีอาเซียนเป็นศูนย์รวม และ (๓) ในระดับโลก (Global level) เพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น ในกรอบสหประชาชาติ (UN) และองค์การการค้าระหว่างประเทศ (WTO) เป็นต้น

๓. ในระดับอาเซียน อาเซียนจะเน้นเรื่อง (๑) การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยให้สนามบินอู่ภะเตาและศูนย์ Asian Disaster Preparedness Centre (ADPC) ที่กรุงเทพฯ มีส่วนร่วมฯ (๒) การเชื่อมโยง โดยมีแผนแม่บทด้านการเชื่อมโยงภายในอาเซียน (๓) การจัดตั้ง Connectivity Plus เพื่อให้อาเซียนเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ (๔) การจัดทำ ASEAN Business Travel Card และ ASEAN Lanes ในทุกสนามบินนานาชาติในอาเซียน (๕) การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ (๖) การเน้นหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส่ (๗) การเคารพในความแตกต่าง (๘) การเสนอตัวของอาเซียนในการเป็นเจ้าภาพจัดบอลโลกในปี ๒๕๗๓ และ (๙) ความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ อาเซียนได้ออกแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ ได้แก่ การเสริมสร้างประชาคมอาเซียน การพิจารณาจัดตั้งสถาบันอาเซียนเพื่อสันติภาพและความปรองดอง และความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์

๔. ในระดับภูมิภาค อาเซียนจะเน้นสูตร ๕+๒+X โดย ๕ หมายถึง ๕ สาขาความร่วมมือหลักใน EAS ได้แก่ พลังงาน การเงิน การบริหารจัดการภัยพิบัติ การศึกษา การสาธารณสุขและนโยบายต่างประเทศ ๒ หมายถึงการเชื่อมโยงและข้อตกลง Comprehensive Economic Partnership for East Asia (CEPEA) X หมายถึง ประเด็นความท้าทายของโลกและเรื่องความมั่นคง ซึ่งประเด็นต่าง ๆ มีทั้งในรูปแบบเดิมและในรูปแบบใหม่

๕. ในระดับโลก อาเซียนจะมุ่งไปสู่การมีท่าทีร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศภายในปี ๒๕๖๕ โดยได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของการเป็นประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก (Joint Statement on ASEAN Community in Global Community of Nations) ซึ่งไทยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ประสานงานในประเด็นท้าทายของโลก ตลอดจนวิเคราะห์แนวโน้มของพัฒนาการสำคัญต่าง ๆ ของโลกควบคู่กัน

๖. อนึ่ง ไทยสนับสนุนให้ติมอร์ เลสเต้ เป็นสมาชิกอาเซียน และพร้อมที่จะเข้าร่วมฉันทามติในเรื่องคำขอของพม่าที่จะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี ๒๕๕๗ ทั้งนี้ อาเซียนจะได้มีการพิจารณา ๒ เรื่องนี้ ในโอกาสต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ