คดีบริษัทวาลเทอร์ เบา ของเยอรมนี ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย

ข่าวต่างประเทศ Monday July 18, 2011 13:54 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับคดีบริษัทวาลเทอร์ เบา (Walter Bau) ของเยอรมนี ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. คดีดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างบริษัทวาลเทอร์ เบา ของเยอรมนีกับรัฐบาลไทย โดยบริษัทฯ เป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย กรณีผิดสัญญาโครงการทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ตามสนธิสัญญาระหว่างไทยกับเยอรมนีเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน ค.ศ. ๒๐๐๒ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินชี้ขาด เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทฯ เป็นเงินประมาณ ๓๐ ล้านยูโร บวกดอกเบี้ยและค่าดำเนินการของคณะอนุญาโตตุลาการอีกเกือบ ๒ ล้านยูโร

๒. โดยที่สหรัฐฯ เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ค.ศ. ๑๙๕๘ (Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards) บริษัทฯ จึงได้นำคดีฟ้องต่อศาลนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ เพื่อขอให้บังคับคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต่อมาศาลนครนิวยอร์กได้ตัดสินให้ไทยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโต ตุลาการ รัฐบาลไทยโดยสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำตัดสินของศาล นิวยอร์ก

๓. ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเยอรมนีอีกทางหนึ่งเพื่อให้มีการบังคับคดี ซึ่งศาลเยอรมนีได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ให้ยึดทรัพย์สินรัฐบาลไทยโดยมิได้มีการสอบถามหรือไต่สวนฝ่ายไทย ซึ่งนำไปสู่การอายัดเครื่องบินพระที่นั่งของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าอากาศยานนครมิวนิก เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ โดยเข้าใจผิดว่าเป็นเครื่องบินของรัฐบาลไทย

๔. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวของฝ่ายเยอรมันเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงอันเกิดจากความเข้าใจผิด เนื่องจากเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ มิใช่ทรัพย์สินของรัฐบาลไทย ฝ่ายไทยได้ดำเนินการติดต่อทางการเยอรมันทันทีที่ได้รับทราบเรื่องในทุกช่องทางเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและหลักฐานยืนยันว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยในการดำเนินการของฝ่ายไทยนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้ให้ข้อมูลข้างต้นแก่กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี และรัฐมนตรีว่าการฯ ได้มีหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีแสดงความกังวลอย่างยิ่งของฝ่ายไทยและขอให้ฝ่ายเยอรมันถอนการอายัดเครื่องบินลำดังกล่าวในทันที และได้สนทนาทางโทรศัพท์กับปลัดกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี กระทรวงฯ ได้เชิญอุปทูตสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย มารับทราบข้อเท็จจริง และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นำโดยอัยการสูงสุดและรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้เดินทางไปถึงนครมิวนิคแล้ว ขณะที่เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้ติดต่อทนายความเยอรมันเป็นที่ปรึกษาประเด็นด้านกฎหมาย นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ จะเดินทางไปกรุงเบอร์ลินในคืนวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เพื่อพบกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีในบ่ายวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เพื่อให้มีการถอนอายัดเครื่องบินลำดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

๕. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างบริษัทวาลเทอร์ เบา กับรัฐบาลไทย รัฐบาลไทยเคารพและไม่มีความตั้งใจที่จะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของเยอรมนี ตลอดจนเข้าใจว่าการดำเนินการเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาบ้าง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยหวังว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด

๖. สำหรับคดีฟ้องร้องระหว่างบริษัทวาลเทอร์ เบา กับรัฐบาลไทย สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลไทยให้เป็นผู้รับผิดชอบในคดีดังกล่าว กำลังอุทธรณ์คำตัดสินของศาลนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่จะต้องดำเนินต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ