การสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง เขตทางทะเลไทย-กัมพูชาและบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU ๒๕๔๔)

ข่าวต่างประเทศ Monday September 24, 2012 14:11 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๕ กระทรวงการต่างประเทศจัดการสัมมนา เรื่องเขตทางทะเลไทย-กัมพูชาและบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Memorandum of Understanding between the Royal Thai Government and the Royal Government of Cambodia regarding the Area of their Overlapping Maritime Claims to the Continental Shelf - MOU ๒๕๔๔) ครั้งที่ ๑ ณ ห้อง Infinity ๑ โรงแรม Pullman Bangkok King Power กรุงเทพมหานคร

การสัมมนามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในเรื่องการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันในอ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา การดำเนินการเจรจาเขตทางทะเลไทย-กัมพูชา และเรื่องบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน โดยมีการบรรยายให้ข้อมูลแก่ประชาชนในหัวข้อ “ที่มาและปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาในอ่าวไทยและ MOU ๒๕๔๔” และ“สถานะของ MOU ๒๕๔๔ ในปัจจุบันและการดำเนินการเจรจาเขตทางทะเลไทย-กัมพูชาบนพื้นฐานของ MOU ๒๕๔๔” และการเสวนาในหัวข้อ “ทางออกในการแก้ปัญหาเขตพื้นที่ทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน” โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายทะเล และด้านเทคนิค ร่วมให้ข้อมูล ได้แก่ นายวศิน ธีรเวชญาณ ประธานคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) พลเรือเอก ศาสตราจารย์พิเศษ ถนอม เจริญลาภ ที่ปรึกษารัฐบาล ศาสตราจารย์ ดร. ชุมพร ปัจจุสานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร. จตุรนต์ ถิระวัฒน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์กวีพล สว่างแผ้ว อาจารย์คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ทั้งนี้ ผู้เสวนาเห็นควรสนับสนุนการเจรจากับกัมพูชาบนพื้นฐานของ MOU ๒๕๔๔ รวมถึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงก็เห็นด้วยที่ให้ใช้ MOU ๒๕๔๔ ในการเจรจากับกัมพูชาต่อไป เนื่องจากเห็นข้อดีหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อน นายวศินฯ เห็นว่า หากยกเลิก MOU ฉบับนี้ จะทำให้ทั้งไทยและกัมพูชามีท่าทีเหมือนเดิมและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายเห็นว่า ไม่ควรนำเรื่องการเมืองภายในมาเกี่ยวโยงกับการเจรจาซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใด

การสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน รวมทั้งผู้แทนและสื่อมวลชนท้องถิ่นจากจังหวัดจันทบุรีและตราด เข้าร่วมราว ๑๕๐ คน ได้รับฟังข้อมูล รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ