ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ ๖ (The 6th Asian Ministerial Conference on Disaster Risk- AMCDRR) ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗

ข่าวต่างประเทศ Friday May 30, 2014 17:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ม.ล. ปนัดนา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา แถลงข่าวร่วมเรื่องการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ ๖ (The 6th Asian Ministerial Conference on Disaster Risk) ของไทยระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การประชุมบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซนทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ

การประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (The Asian Ministerial Conference on Disaster Risk Reduction- AMCDRR) เป็นเวทีหารือระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านการจัดการภัยพิบัติของ ๖๓ ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจะจัดขึ้นทุก ๒ ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างเจตนารมย์ทางการเมืองในการส่งเสริมการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการสร้างสังคมที่พร้อมรับมือและฟื้นกลับเมื่อเกิดภัยพิบัติทั้งในระดับชาติ และระดับภูมิภาค ให้สอดคล้องตามหลักปฏิบัติสากล และกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Hyogo Framework for Action 2005 – 2015)

การประชุม AMCDRR ครั้งที่ ๖ จะมีความสำคัญต่อไทยและภูมิภาค ดังนี้ ๑) เพื่อเป็นการย้ำถึงบทบาทนำของประเทศไทยในการบริหารจัดการภัยพิบัติเพื่อการลดความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติในอนาคต รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ และความร่วมมือในระดับต่าง ๆ ในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภัยพิบัติให้เกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ๒) เพื่อทบทวนและสังเคราะห์บทเรียนของภูมิภาคในการดำเนินงานตามกรอบเฮียวโกะเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Hyogo Framework for Action: HFA) ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานของโลกระยะ ๑๐ ปี (ปี ๒๕๔๘ – ๒๕๕๘) และ ๓) เพื่อเป็นเวทีหารือระหว่างประเทศเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติครั้งสุดท้ายที่ประเทศสมาชิกและหน่วยงานเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ จะร่วมกันกำหนดทิศทางของโลกในกรอบดำเนินการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติฉบับใหม่ (HFA 2) ก่อนที่ HFA จะครบวาระในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นอกจากนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นแก่นานาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย

ผลการหารือในการประชุมครั้งนี้จะได้รับการนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติสมัยสามัญ (UN General Assembly) ในเดือนกันยายน ๒๕๕๗ และการประชุมระดับโลกเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสมัยที่ ๓ (World Conference on Disaster Risk Reduction: WCDRR) ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ ซึ่งจะเป็นการรับรอง HFA 2 ด้วย

เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ๑) ปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ๒) ข้อเสนอเกี่ยวกับ Post-2015 HFA หรือ HFA 2 ของภูมิภาคเอเชีย ๓) ข้อเสนอแนวทางการมี ส่วนร่วมในการขับเคลื่อน HFA 2 ของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder groups) ของภูมิภาคเอเชีย

ขณะนี้มีรัฐมนตรีจาก ๑๒ ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา อัฟกานิสถาน กัมพูชา จีน บังกลาเทศ มัลดีฟส์ ทาจิกิสถาน เมียนมาร์ ติมอร์-เลสเต ฟิจิ เนปาล และตูวาลู ตอบรับยืนยันการเข้าร่วมประชุม นอกจากนี้มีผู้แทนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภายในและภายนอกประเทศกว่า ๑,๕๐๐ คน ได้ตอบรับยืนยันการเข้าร่วมประชุม

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ