ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีในการเสวนา (Interactive Dialogues) หัวข้อ “Ending poverty and hunger” ณ Trusteeship Council สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

ข่าวต่างประเทศ Monday September 28, 2015 13:28 —กระทรวงการต่างประเทศ

ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี

ในการเสวนา (Interactive Dialogues) หัวข้อ “Ending poverty and hunger”

ณ Trusteeship Council สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๘

ท่านประธานร่วม
ท่านประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล
ท่านแขกผู้มีเกียรติ

๑. ผมดีใจที่ประชาคมโลกหันมาให้ความสำคัญกับการกำหนดวาระการพัฒนาโดยเน้นการแก้ปัญหาอย่างสมดุลและยั่งยืน ไม่เพียงแต่มุ่งขจัดความยากจนเท่านั้นแต่ยังมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่จะต้องสานต่อจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ให้บรรลุผลภายใน ๑๕ ปีข้างหน้า

๒. แม้ว่าสัดส่วนของคนจนในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ ๔๒ ในปี ๒๕๔๓ เหลือร้อยละ ๑๐.๕๓ ในปี ๒๕๕๗ แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย อันเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล และปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินและทรัพยากรของประเทศแต่เพียงในกลุ่มคนส่วนน้อยเท่านั้น

๓. รัฐบาลของผมให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในสังคม และการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรของประเทศ อย่างทัดเทียมกัน เพราะเราไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราไม่ต้องการให้สังคมไทยมีการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เบียดบังผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สร้างความแตกต่าง แบ่งแยก เอารัดเอาเปรียบ จนเกิดความอยุติธรรม และนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น อันเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมไทยในขณะนี้

๔. การบริหารประเทศของเราในช่วงแรก คือ การผลิกฟื้นสันติสุข สร้างความสามัคคี ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม และการแก้ปัญหาเร่งด่วนทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ในปัจจุบันเรากำลังเดินหน้าวางรากฐานการพัฒนา และวางแผนการปฏิรูปประเทศไทยอย่างครบวงจร ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ และเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางตามวิสัยทัศน์ของประเทศ ๒๐๑๕-๒๐๒๐ “ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ประชาคมยั่งยืน” เช่นเดียวกับอารยประเทศต่างๆ บนโลกนี้

๕. รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการสร้างกรอบกติกาที่เอื้อให้คนทุกคนในสังคมได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะด้านการศึกษา บริการทางการแพทย์และทางสังคม ตลอดจนต้องได้รับการคุ้มครองโดยกระบวนการยุติธรรม

๖. ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาประเทศของไทย ได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง บนหลักของ “ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน” เพื่อเอาชนะความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างพื้นฐานทางด้านจิตใจของคนในชาติในทุกระดับให้มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน และรอบคอบ

๗. การแก้ไขปัญหาความยากจนและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จึงมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่เน้นวัตถุนิยม – บริโภคนิยม ไม่สนับสนุนการสร้างรายได้ที่ปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคม – ส่วนรวม แต่ให้ความสำคัญกับการหล่อหลอมจิตวิญญาณ ปลูกฝังให้คนมีความสมดุล ระหว่างการผลิตกับการบริโภค มีจิตสำนึกที่เอื้ออาทรและอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน

๘. หลักการสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็คือการรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งตลอด ๕๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถยกระดับการพัฒนามาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้ ก็ด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยรัฐบาลได้ดำเนินการ (๑) ส่งเสริมการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (๒) ส่งเสริมตลาดชุมชน (๓) พัฒนาศักยภาพ SMEs เชื่อมโยงธุรกิจขนาดใหญ่แบบ “พี่สอนน้อง” แล้วเชื่อมโยงกับภูมิภาคและโลก รวมทั้ง (๔) การสร้างกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ ของประเทศอย่างบูรณาการและยั่งยืน ไม่เสียดุลยภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

๙. ทั้งนี้ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ ต้องเริ่มจากการเสริมสร้างขีดความสามารถของ “ชุมชน” ซึ่งเป็นไปตามแนวพระราชดำริและพระราชเสาวนีย์ของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ อันได้แก่ (๑) การส่งเสริมสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและ OTOP (One Tambon One Product) (๒) การส่งเสริมโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ กองทุนหมู่บ้าน – ตำบล และสินเชื่อ “นาโนไฟแนนซ์” (๓) การพัฒนาองค์ความรู้ให้ชุมชนเกษตรกรรม ด้วย “ศูนย์เรียนรู้” ประจำอำเภอ

๑๐. นอกจากนี้ การบริการจัดการด้านแรงงาน ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ผู้มีรายได้น้อย โดย “ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center)” ทั่วประเทศ ทำให้อัตราส่วนการมีงานทำของไทย สูงถึงร้อยละ ๙๘.๗ โดยต้องไม่ลืมว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่ออนาคตและเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น อาทิ การลงทุนระบบโครงสร้างการคนาคมพื้นฐาน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

๑๑. ผมเชื่อว่าหากเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ เริ่มจากทำให้ชุมชน ท้องถิ่น และประเทศมีความเข้มแข็ง สร้างความเชื่อมโยง ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศ และช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนา สามารถขจัดความยากจนได้เร็วขึ้น

๑๒. การพัฒนาจะยั่งยืนได้ ก็ต่อเมื่อทุกคน ทุกประเทศ ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ไม่มีคนใด หรือประเทศใด ถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง และความเหลื่อมล้ำได้ถูกขจัดให้หมดสิ้นไป เมื่อมีการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างความพอดี ทั้งในเรื่องของการผลิตและบริโภค เพื่อให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของโลกใบนี้ ยั่งยืนสำหรับชนรุ่นหลัง

๑๓. ขอบคุณครับ

*****************

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ