พิธีลงนามกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework – UNPAF) ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๑

ข่าวต่างประเทศ Tuesday August 1, 2017 15:14 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนางเดียร์เดร บอยด์ (Ms. Deirdre Boyd) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Resident Coordinator – UNRC) พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานภายใต้ทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Country Team – UNCT) ได้ร่วมลงนามกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework – UNPAF) ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๑ ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และวิชาการ ร่วมเป็นสักขีพยาน

ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวต้อนรับ โดยย้ำการประสานงานที่ใกล้ชิด การเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความโปร่งใสในการทำงานของสหประชาติ และการสื่อสารกับสาธารณชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กล่าวสรุปผลการดำเนินความร่วมมือภายใต้ UNPAF ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๒ – ๒๐๑๖ และความคาดหวังต่อ UNPAF ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๑

ต่อจากนี้ หน่วยงานของไทยและ UN จะดำเนินงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยจะมีการจัดทำรายงานความคืบหน้าเพื่อการติดตามและประเมินผลทุกปี และรายงานการทบทวนครึ่งทาง (mid – term review) กลไกที่สำคัญ ได้แก่ (๑) คณะกรรมการสามฝ่าย (Tripartite Committee) ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วมเพื่อติดตามความคืบหน้าและให้ทิศทางด้านนโยบาย และ (๒) คณะกรรมการขับเคลื่อน (Steering Committee) ประกอบด้วยผู้แทนในระดับเทคนิคจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานหลักภายใต้ UNCT

อนึ่ง UNPAF เป็นกรอบความร่วมมือที่กำหนดวัตถุประสงค์ ยุทธศาสตร์ และกรอบเวลาร่วมกันในการดำเนินภารกิจด้านการพัฒนาระหว่าง UN กับประเทศเจ้าบ้านภายใต้หยุทธศาสตร์ ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) การกำหนดและบังคับใช้นโยบายที่มีประสิทธิผล ยั่งยืนและครอบคลุม (๒) การส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคมและทำให้มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง (๓) การให้การยอมรับและให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในฐานะหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศ และ (๔) การขยายการแลกเปลี่ยนด้านวิธีการในเรื่องความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ