การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย พ.ศ. ....

ข่าวต่างประเทศ Friday November 17, 2017 13:53 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย พ.ศ. .... ณ ห้องประชุม ๓ กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา โดยมีนายสุภาค โปร่งธุระ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เป็นประธาน และมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมประมาณ ๔๐ คน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย (World Vision Foundation of Thailand) องค์การช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย (Save the Children Thailand) สมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย ฯลฯ

ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center – ADPC) เป็นองค์กรระดับภูมิภาคซึ่งมีสำนักงานที่กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมาชิกประกอบด้วยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จำนวน ๙ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ต่อมา ADPC ได้เสนอร่างกฎบัตรเพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๘ เห็นชอบร่างกฎบัตรของ ADPC โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นได้ลงนามกฎบัตรเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ อย่างไรก็ดี มาตรา ๑๕ ของกฎบัตรระบุว่า กฎบัตรจะไม่มีผลใช้บังคับจนกว่ารัฐภาคีผู้ลงนามก่อตั้งจะให้สัตยาบันครบทุกประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีรัฐภาคีที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันกฎบัตร จำนวน ๒ ประเทศ ได้แก่ ไทยและกัมพูชา โดยในส่วนของไทยจะสามารถให้สัตยาบันกฎบัตรได้ต่อเมื่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย พ.ศ. .... ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

การจัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๗๗ ซึ่งกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๐ ซึ่งเห็นชอบแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว นอกจากการประชุมที่จัดขึ้นครั้งนี้แล้ว กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ระหว่างวันที่ ๑ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ อีกทางหนึ่งด้วย

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ