รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการที่ประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ครั้งที่ ๓/๒๕๖๑

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 10, 2018 14:47 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๗ – ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๑ โดยมี นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศในภารกิจปฏิบัติการด้านสารสนเทศ และ ม.ล. สุภรัตน์ เทวกุล ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศในภารกิจด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน นางอุรษา มงคลนาวิน หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะได้ศึกษาดูงานโครงการที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ๒ โครงการ ได้แก่

(๑) ชุมชนสายยาว ชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนวิถีเกษตรอย่างยั่งยืนซึ่งพัฒนาต่อยอดสิ่งที่มีอยู่และต้นทุนเดิมในชุมชน โดยภายในชุมชน มีฐานเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ฐานบัญชีครัวเรือน ฐานโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ ฐานการทำปุ๋ยชีวภาพ ฐานการทำน้ำยาเอนกประสงค์ ฐานการเลี้ยงกบ ฐานปั้นกระถางปูนซีเมนต์ ฐานการแปรรูปอ้อย ฐานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทอผ้า ฐานพลังงานทดแทน ฐานการทำไม้ดัด ฐานโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) เป้าหมายที่ ๘ (SDG8) และสามารถใช้เป็นต้นแบบแก่ต่างประเทศได้

(๒) โรงเรียนมีชัยพัฒนา เป็นตัวอย่างของการศึกษาทางเลือกที่ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบความคิด โดยเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง พัฒนาให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ พึ่งพาตนเองได้ เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีกิจกรรมนอกห้องเรียน และส่งเสริมให้เด็กกลับมาพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน นับเป็นโรงเรียนในชนบทที่ได้มาตรฐานระดับโลก สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ต่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมการศึกษาที่เท่าเทียม (SDG4) ได้

การศึกษาดูงานข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นแนวทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SEP for SDGs) ซึ่งเป็นแกนสำคัญของการต่างประเทศไทยในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ สนับสนุนการกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีและไตรภาคีของไทยกับนานาชาติ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยและยกสถานะไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ