คำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรี ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวข้อ “Future Directions – Enhancing Economic Integration of ACMECS” ในการประชุม ACMECS CEO Forum วันที่ 15 มิถุนายน 2561

ข่าวต่างประเทศ Friday June 15, 2018 14:13 —กระทรวงการต่างประเทศ

คำล่าวของรองนายกรัฐมนตรี ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

หัวข้อ "Future Directions – Enhancing Economic Integration of ACMECS"

ACMECS CEO Forum

15 มิถุนายน 2561

ณ รร. แชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวสารใดอีกแล้วที่จะเป็นที่สนใจติดตามของชาวโลกเท่ากับข่าวการประชุมหารือระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาและประธานาธิบดี คิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์ และต้องนับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งต่อโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภูมิภาคเอเชียที่ผลการพบปะลุล่วงไปในทางที่ดีและได้ช่วยผ่อนคลายวิกฤติการณ์และเมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนที่มาบดบังประกายความเจิดจ้าของเอเชียตลอดขวบปีที่ผ่านมา และย่อมเป็นนิมิตหมายที่ดีกับการประชุม ACMECS ในวันพรุ่งนี้

ท่านผู้มีเกียรติครับ ในวันพรุ่งนี้ เราจะมีการประชุม ACMECS ครั้งที่ 8 เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ อย่างไรก็ดี ต้องถือว่าการประชุมในวันพรุ่งนี้มีความสำคัญและสอดรับอย่างยิ่งกับสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เอเชียกำลังมีบทบาทอย่างสูงทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลกในขณะนี้ และแน่นอนที่สุดที่ ภูมิภาค ASEAN และกลุ่มสมาชิกของ ACMECS ทั้ง 5 ย่อมจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญอย่างแน่นอน

ท่านผู้มีเกียรติครับ เป็นข้อเท็จจริงที่คงไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้อีกแล้วว่า ห้วงเวลาแห่งการผงาดของเอเชีย (Asia rising) อันเป็น

ที่ร่ำลือกันมานาน บัดนี้ห้วงเวลาดังกล่าวนั้นได้มาถึงแล้ว เอเชียไม่เป็นแต่เพียงความหวังใหม่ที่จะช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจของโลก แต่ยังได้กลายมาเป็นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ถนนทุกสายล้วนมุ่งสู่ และด้วยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของกลุ่มประเทศแห่งเอเชียตะวันออกและกลุ่มประเทศแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา บัดนี้เอเชียเป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนแห่งโลกตะวันออกที่ได้ทอแสงเจิดจ้าสาดส่องไปทั่วโลกอย่างที่ไม่มีสิ่งใดจะมาบดบังได้อีกแล้ว สมจริงดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีอินเดีย ท่านโมดีได้กล่าวไว้ในคราวประชุม Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ว่า นับพันปีแล้วที่อินเดียนั้นหันหน้าสู่ตะวันออก ไม่ใช่เพียงเพื่อเฝ้ารอดูพระอาทิตย์ขึ้น แต่เพื่อร่วมภาวนาให้แสงอาทิตย์นั้นช่วยสาดส่องแสงสว่างให้ครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก ครับ บัดนี้อาทิตย์ได้ขึ้นแล้วทางตะวันออก และกำลังทอแสงไปทั่วทั้งโลก

ท่านผู้มีเกียรติครับ ภูมิภาคเอเชียจรัสแสงได้ก็เพราะความก้าวหน้าและพลังเศรษฐกิจของชาติใหญ่เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ควบคู่กับการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจของกลุ่มชาติอาเซียนที่เป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญยิ่งแห่งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศ CLMVT แห่งลุ่มน้ำอิรวดี เจ้าพระยาและลำน้ำโขง ที่สามารถจรรโลงการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับ

6-8% อย่างต่อเนื่องนับสิบปี ประเทศไทยที่ถึงแม้ต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนทางการเมืองจนเศรษฐกิจถดถอยลงไปอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่บัดนี้ เมื่อบ้านเมืองกลับสู่ความสงบ การเมืองมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจของไทยก็สามารถไต่ระดับเติบโตอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ในไตรมาสที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้ไทยสามารถเร่งรัดการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทางประเทศไทย 4.0 เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

ท่านผู้มีเกียรติครับ ใครเลยจะคาดคิดว่า อนุภูมิภาคแห่งนี้ที่เพียง 30-40 ปี ก่อนหน้านี้ยังเป็นพื้นที่ๆอบอวลไปด้วยไฟสงครามและความขัดแย้ง มาบัดนี้กลับเป็นอาณาเขตที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ด้วยความโดดเด่นของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จำนวนประชากรกว่า 200 ล้านคน ที่ประกอบไปด้วยชนชั้นกลางที่กำลังเติบใหญ่และแรงงานจำนวนมหาศาล CLMVT กลายเป็นทั้งตลาดและ supply chain ที่สำคัญแห่งเอเชียในหลากหลายอุตสาหกรรม

หาก supply chain ในส่วนนี้ติดขัดก็จะส่งผลให้ภาคการผลิตหยุดชะงักโดยรวม ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุคใหม่ ต้องถือว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสและเป็นยุคทองของ CLMVT อย่างแท้จริง แต่คำถามสำคัญที่ชาติสมาชิกของ ACMECS จะต้องตอบให้ได้ คือ พวกเราจะสามารถจรรโลงการเติบโตและสั่งสมความมั่งคั่งให้ยั่งยืนไปได้นานเพียงใด เพราะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าพวกเราล้วนแต่กำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งจากกระแสการปกป้องทางการค้าและสถานะความสามารถแข่งขันของประเทศที่ต้องเผชิญกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มรูปแบบ ที่สามารถส่งให้ประเทศที่มีความพร้อมก้าวกระโดดในการพัฒนาในขณะที่ประเทศที่หลับไหลไม่ตื่นตัว จะถูกทิ้งห่างจนไม่เห็นหลัง ยิ่งไปกว่านี้ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมที่รุนแรงยิ่งในภูมิภาคแห่งนี้ หากไม่เร่งแก้ไขก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญ ไม่เพียงจะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่จะเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งในสังคมที่ยากจะหลีกเลี่ยง

แน่นอนที่สุด แต่ละประเทศต่างก็ต้องมีนโยบายของตนที่จะแก้ไข บ้างก็พัฒนาไปได้เร็ว บ้างก็ช้ากว่าเพราะมีข้อจำกัดที่ต่างกัน แต่ความแตกต่างของระดับการพัฒนาเหล่านี้หากมีมากจะไม่มีคุณมีแต่จะเป็นโทษฉุดรั้งศักยภาพของทั้งอนุภูมิภาคโดยรวม ความน่าสนใจเชิงการลงทุนของทั้งอนุภูมิภาคจะหมดไป และจะกลับเป็นอุปสรรคฉุดรั้งต่อการก้าวย่างไปข้างหน้าของอาเซียนโดยส่วนรวม ด้วยเหตุนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีของไทยจึงได้วางเป็นนโยบายสำคัญของไทย ในการให้ความร่วมมือและสนับสนุนชาติเพื่อนบ้านของเรา โดยใช้ motto ที่ว่าเราจะก้าวไปด้วยกัน แข็งแกร่งไปด้วยกัน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพวกเราก็

ได้ยินคำยืนยันจากคำกล่าวของท่านแล้วเมื่อเช้านี้

ท่านผู้มีเกียรติครับ ประเทศไทยจึงได้เสนอในที่ประชุม ACMECS คราวที่ผ่านมาที่กรุงฮานอยว่า ถึงเวลาแล้วที่ ACMECS

น่าจะมีการร่วมหารือจัดทำ master plan ทางยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้เกิดการประสานและสน้บสนุนเกื้อกูลกันให้เกิดพลังผนึกร่วมอย่างแท้จริงแทนที่จะต่างคนต่างแยกพัฒนาในส่วนของตนอย่างเดียว ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่าการรวมพลังทางความคิด การประสานกันเชิงยุทธศาสตร์และการเกื้อกูลกันเพื่อยกระดับความสามารถแข่งขันของทั้งอนุภูมิภาคและการร่วมมือกันในการลดความเหลื่อมล้ำ จะสามารถส่งผลให้ทั้งอนุภูมิภาคเกิดความแข็งแกร่ง สามารถประสานใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ยิ่งไปกว่านี้ หากเราสามารถอาศัย master plan ร่วมในเชิงยุทธศาสตร์นี้ลดอุปสรรคและร่วมหาวิธีบริหารจัดการอุปสรรคที่ขวางกั้นการเคลื่อนย้ายผ่านแดนระหว่างกันไม่ว่าแรงงาน สินค้า หรือทุน และเร่งปรับระเบียบกติกาให้สอดรับกันความเป็นไปได้ ของการเกิด One ACMECS น่าจะเป็นความความฝันที่ใกล้ความจริงได้ง่ายกว่า อีกทั้งจะเป็น stepping stone สู่ One ASEAN ได้เร็วขึ้น

ท่านผู้มีเกียรติครับ เราต้องลองจินตนาการร่วมกัน ว่าการมี master plan หรือยุทธศาสตร์ร่วมกันของ ACMECS จะให้ประโยชน์จริงเพียงไร? อยากให้ท่านทั้งหลายลองคิดถึงการท่องเที่ยว ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยประมาณ 35 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตปีละ 15-20% และคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละสิบของจีดีพี คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ทำไมเราไม่ร่วมทำยุทธศาสตร์ร่วมกันตั้งแต่ต้นอย่างจริงจังเพื่อให้เพื่อนบ้านของเราได้รับประโยชน์ด้วย จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้กระจายออกไปใน CLMV ให้เขาอยู่นานที่สุด ชื่นชมกับแหล่งท่องเที่ยวอันหลากหลาย และจับจ่ายซื้อของท้องถิ่น แน่นอนที่สุด สิ่งนี้จะเกิดได้ต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกัน การร่วมกำหนดเส้นทางท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย การร่วมพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก น้ำและอากาศ การร่วมมือถ่ายทอดเพื่อยกระดับความสามารถในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว การร่วมกันของภาคเอกชนในการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและ Ecosystem ที่ได้มาตรฐาน นักท่องเที่ยวที่มากรุงเทพปีละ 35 ล้านคน ทำไมจะไม่สามารถให้ไปเที่ยวอีสานแล้วให้เลยไปลาวหรือกัมพูชา นักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ตปีละสิบกว่าล้านคน ทำไมจะไม่สามารถกระจายเชื่อมโยงสู่หมู่เกาะมะริดอันงดงามของเมียนมา นักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่หรือเชียงรายปีละสิบกว่าล้านคน ทำไมจะไม่อาจประสานให้เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวในลาวหรือเมียนมาได้ ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้หากมีแผนงานที่วางอย่างเป็นระบบและร่วมมือกันอย่างจริงจัง ประชาชนของทุกภาคส่วนจะได้ประโยชน์มากเพียงใดจากการนี้ หรือหากมองไปที่การคมนาคมและ logistic ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเพียงใดหากชาติใน ACMECS สามารถกำหนด master plan การเชื่อมต่อทั้งถนนและรถไฟ ทั้งขนคนและขนส่งสินค้าระหว่างกันในเส้นทางและเวลาที่กำหนดอย่างเหมาะสมและให้สามารถเชื่อมต่อไปยังอินเดียและจีนได้โดยสะดวกโดยเร็ว กระแสการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและความเจริญของเมืองจะเปลี่ยนไปเพียงใด หรือลองหันมาพิจารณาเรื่องยุทธศาสตร์ร่วมด้านตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งเป็นจุดที่มีช่องว่างของการพัฒนาสูงมาก ให้ลองจินตนาการว่าผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจจะมีมากเพียงใดหากสามารถร่วมพัฒนาสร้างความเข้มแข็งและการเชื่อมโยงทั้งตลาดเงินและตลาดทุนในอนุภูมิภาค ธุรกิจใหญ่เล็กหรือแม้แต่ Start up ใหม่ๆจะได้ประโยชน์เพียงใดหากสามารถระดมทุนจากตลาดเงินและตลาดทุนระหว่างกัน trust ระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในเรื่องนี้ ในเรื่องของ SME ก็เช่นกัน การมียุทธศาสตร์ร่วมกันในการพัฒนา และเปลี่ยนผ่าน SME เข้าสู่ดิจิตอล การร่วมพัฒนาและถ่ายทอดทักษะเพื่อผลิตภัณฑ์ชุมชนและการเชื่อมต่อการค้าonline ระหว่างกันและการขจัดอุปสรรคการค้าชายแดนระหว่างกัน ย่อมส่งประโยชน์อย่างมากมายในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

ท่านผู้มีเกียรติครับ จินตนาการเหล่านี้จะเป็นจริงได้ ACMECS อย่างน้อยจะต้องประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย

ประการหนึ่งคือ จะต้องมีการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อseamless connectivity ระหว่างสมาชิกชาติ ACMECS ทั้งการคมนาคม ไม่ว่าทางบก ทางน้ำ ทางอากาศและการเชื่อมต่อด้านดิจิตอล ประเทศไทยได้เริ่มแล้วในส่วนนี้ด้วยการใช้งบประมาณนับล้านล้านบาทหลังจากหยุดชะงักไปนานหลายปี แต่เราอยากให้เกิดการเชื่อมต่อสู่เพื่อนบ้านและภูมิภาคอื่นเพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาร่วมกันในอนาคต

ประการที่สองคือ การประสานสอดรับในนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศในมิติหลักๆ ที่เป็นแก่นการพัฒนาในอนาคต ทั้งในภาคการผลิต การค้า การเงิน การลงทุน ท่องเที่ยว การพลังงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้นโครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลไทย ที่ใช้งบประมาณนับล้านล้านบาทเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการผลิต ศูนย์บ่มเพาะนวตกรรม และ Start up และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แห่งอนาคต แทนที่จะเกิดประโยชน์เพียงในประเทศ จะทำอย่างไรจึงจะให้สามารถเกื้อกูลเอื้อประโยชน์ต่อภาคการผลิตและบริการในประเทศเพื่อนบ้านของเราได้ และในประการที่สาม ACMECS จะต้องสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการสนับสนุนโครงการร่วมเชิงยุทธศาสตร์ในอนาคตอย่างเพียงพอฉะนั้นความสัมพันธ์เชิงลึกกับสถาบันการเงินเพื่อการลงทุน และการพัฒนาทั้งหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ และในการประชุมพรุ่งนี้ ไทยได้เสนอให้จัดตั้ง ACMECS Trust Fund เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานเพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยที่ไทยยินดีร่วมสนับสนุนทางการเงินตั้งแต่เบื้องต้น และในวันพรุ่งนี้ ปัจจัยทั้งสามนี้จะถูกบรรจุไว้ใน master plan ของ ACMECS และจะมีการแต่งตั้งคณะประสานงานในแต่ละปัจจัยเพื่อการขับเคลื่อนในทางปฏิบัติ

ท่านผู้มีเกียรติครับ กรอบแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ร่วมไม่เพียงแต่จะเป็นแนวทางความร่วมมือของรัฐต่อรัฐในอนาคต แต่ยังจะเป็นเข็มทิศชี้ทิศทางของการตระเตรียมปรับตัว ทั้งในเชิงของยุทธศาสตร์ ทั้งในเชิงขององค์กรของธุรกิจเอกชนใน ACMECS และจะเป็นจุดกระตุ้นให้เกิดการเตรียมความพร้อมการประสานความร่วมมือระหว่างเอกชนและเอกชนของประเทศทั้ง 5 ว่าจะร่วมมือด้านใด ที่ใด เมื่อไร กับใคร นักธุรกิจในภาคเอกชนของ ACMECS จะต้องระลึกไว้เสมอว่าการเลี่ยนแปลงของ Geopolitic ก็ดี การเข้าสู่ยุคดิจิตอลก็ดี จะมีผลอย่างรุนแรงต่อ Business Model ที่เป็นอยู่ จะเป็นทั้งโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง ที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ และกับ Partner ใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกันจะมีความเสี่ยงภัยอย่างใหญ่หลวงต่อผู้ที่ปรับตัวไม่ทันและต้องล้มหายไปจาก disruption ที่เกิดขึ้น

กรอบแผนแม่บทนี้หากกระทำได้สำเร็จ ย่อมเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่ประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศ อื่นที่ต้องการเข้ามาสนับสนุนไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย หรือแม้แต่สหรัฐ EU และออสเตรเลีย หรือแม้แต่องค์กรทางการเงินเช่น ADB AIIB JBIC ที่แต่เดิมมีความสนใจที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนา แต่ต่างคนต่างทำ ในบางกรณีก็ซ้ำซ้อนกัน กรอบ master plan จะมีผลให้เกิดผลดีทั้งในเชิงประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

ท่านผู้มีเกียรติครับ ความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้ย่อมมิได้จำกัดอยู่ในเฉพาะสมาชิก ACMECS เท่านั้น แต่ยังสามารถขยายการเชื่อมโยงสู่ภายนอก ไม่ว่าในระดับประเทศหรือในระดับอนุภูมิภาคด้วยกัน เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสหารือร่วมกับนาง Carrie Lam ผู้บริหารสูงสุดของ Hong Kong และท่านชุย ไซ ออน ผู้บริหารสูงสุดของมาเก๊า ผมได้เรียนกับท่านทั้งสองไปว่า ในปัจจุบัน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้มอบหมายให้ฮ่องกง มาเก๊าและกวางตุ้งเป็นหัวหอกสำคัญของ Greater Bay Areaในการสนับสนุน BRI ทั้งในเชิงของการลงทุน การบริการทางการเงินและการท่องเที่ยว และทั้ง HK มาเก๊าและกวางตุ้งก็กำลังจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ผมได้เรียนเสนอไปว่า เส้นทางที่ BRI พาดผ่านลงมาทางใต้นั้น Greater Bay Area จะมีส่วนใกล้ชิดที่สุดกับอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง CLMVT ที่มีพรมแดนติดจีนตอนใต้

หากในอนาคต อนุภูมิภาคทั้งสองมีการหารือและวางแผนเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ประโยชน์จะเกิดกับทั้งสองฝ่ายในทุกๆ มิติ ไม่เพียงการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว แต่ยังครอบคลุมถึงการประสานยุทธศาสตร์ด้านสังคมอาทิการศึกษาและวาธารณสุข ซึ่งท่านทั้งสองเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และนี่คือสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมของการประสานเชิงยุทธศาสตร์ไม่ใช่ระหว่างประเทศสมาชิกแต่ระหว่าง ACMECS กับ Greater Bay Area ที่มีประชากร 67 ล้านคน มีขนาด GDP ประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีพลังเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับการเชื่อมโยงสู่ประเทศหรือภูมิภาคอื่นของโลก

ท่านผู้มีเกียรติครับ การผงาดของเอเชียได้เกิดขึ้นแล้ว และในขณะนี้ก็มีปรากฎการณ์อย่างน้อย4ประการกำลังก่อตัวขึ้น หนึ่งคือ BRI ของจีนที่ตั้งใจเชื่อมโยงไปยังมิตรประเทศทั้งหลายทั่วโลกโดยเฉพาะการลงใต้สู่ช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้ สองคือ แนวร่วม Indo-pacific partnership ที่พาดผ่านกลุ่มประเทศที่อยู่ระหว่างคาบสมุทรอินเดียและแปซิฟิก สามคือการก่อตัวของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดคือ RCEP ที่ครอบคลุมประชากรและจีดีพีกว่าครึ่งโลก และสี่คือการประกาศออกตัวอย่างเป็นทางการแล้วของ CPTPP โดยสมาชิก11 ชาติแม้จะขาดซึ่งสหรัฐก็ตาม ท่านผู้มีเกียรติครับ ปรากฎการณ์ทั้งสี่นี้กำลังเป็นคลื่นลูกใหม่ 4 ลูกของการเปลี่ยนแปลงเชิง geopolitic ของโลก เป็นคลื่นลูกใหม่ที่กำลังสร้างเขตการค้าขนาดใหญ่และความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่ไม่เคยมีมาก่อน และกำลังเป็นแม่เหล็กที่ดูดดึงนักลงทุนจากทั่วโลก และทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเราจะวาดเส้นบนแผนที่อย่างไร CLMVT หรือ ACMECS ในฐานะแก่นของ ASEAN ตอนบนล้วนอยู่ในอาณาเขตที่เป็นใจกลางอันจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์เหล่านี้ทั้งสิ้น ความท้าทายขณะนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ภายในของพวกเราต่างหาก ว่าเราจะรวมพลังกันได้แน่นแฟ้นเพียงใด เราจะเตรียมตัวของเราได้ดีเพียงใด จึงจะสามารถสร้างประโยชน์จากปรากฎการณ์เหล่านี้ให้เกิดกับความมั่นคง และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของพวกเราได้อย่างไร ซึ่ง master plan และยุทธศาสตร์ร่วมที่ผมได้กล่าวมา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งที่พวกเราไม่ว่ารัฐหรือเอกชนจะต้องรวมพลัง ผลักดันให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติ

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ