การมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับฮังการี

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 24, 2019 14:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

ไทยกับฮังการีได้เริ่มเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับฮังการีว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Treaty between the Kingdom of Thailand and Hungary on Extradition) เมื่อปี ๒๕๕๘ และในส่วนของฝ่ายไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๑ อนุมัติให้ลงนามสนธิสัญญาฯ ไทยกับฮังการีจึงได้ลงนามสนธิสัญญาดังกล่าว ณ นครนิวยอร์ก และได้ตกลงแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนในการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) กับ ฯพณฯ นาย Szilveszter Bus เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย ณ ห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ และโดยที่ข้อ ๒๓ วรรค ๑ ของสนธิสัญญาฯ กำหนดว่า “…ให้สนธิสัญญาเริ่มมีผลใช้บังคับสามสิบ (๓๐) วันหลังจากการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารนั้น” จึงเป็นผลทำให้สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๒ เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

๑. ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ต้องเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายของทั้งไทยกับฮังการี

และเป็นความผิดที่มีกำหนดโทษจำคุกเกินกว่า ๑ ปี

๒. รัฐที่ได้รับการร้องขอไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลซึ่งกระทำความผิดทางการเมือง และความผิดทางทหาร

๓. ไม่ต้องมีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อรัฐที่ได้รับการร้องขอมีคำพิพากษาในความผิดนั้นแล้ว หรือเมื่อคดีขาดอายุความตามกฎหมายของประเทศที่ร้องขอ

๔. ไทยกับฮังการีมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ส่งคนชาติของตนเป็นผู้ร้ายข้ามแดน อย่างไรก็ดี หากไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนด้วยเหตุดังกล่าว รัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องเสนอคดีนั้นให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดีต่อไปตามคำร้องขอของภาคีที่ร้องขอ เว้นเสียแต่ว่าภาคีที่ได้รับการร้องขอไม่มีอำนาจเหนือความผิดนั้น ก็จะไม่ต้องเสนอคดีนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดี

๕. ผู้กระทำผิดที่ถูกส่งตัวไปจะไม่ถูกลงโทษในความผิดอื่น นอกเหนือจากในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

๖. รัฐที่ได้รับการร้องขอจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบตัว

๗. สนธิสัญญานี้จะใช้บังคับเฉพาะกับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งจัดทำขึ้นภายหลังสนธิสัญญานี้มีผลใช้บังคับ โดยไม่คำนึงถึงวันแห่งการกระทำความผิด

ทั้งนี้ การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อส่งตัวผู้กระทำความผิดที่หลบหนีออกนอกประเทศ กลับไปดำเนินคดีหรือรับโทษ ปัจจุบัน ไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น ๑๖ ประเทศ (รวมฉบับล่าสุดคือฮังการี) อนึ่ง ประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือเรื่องผู้ร้ายข้ามแดนกับต่างประเทศมาอย่างยาวนาน โดยได้ทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับแรกใน ร.ศ. ๑๒๙ และมีการตราพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๔๗๒ ต่อมา ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยขึ้นและใช้พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกรอบทางกฎหมายในการดำเนินความร่วมมือเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดน

สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับฮังการีจะช่วยให้ไทยกับฮังการีสามารถป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะที่มีลักษณะข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะช่วยลดผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ ตลอดจนนำไปสู่การดำเนินการให้ความร่วมมือทางอาญาระหว่างกันในด้านอื่น ๆ ต่อไป

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ