การประชุมคณะกรรมการสามฝ่ายเพื่อทบทวนผลการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๑

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 2, 2019 15:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๕ และ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๒ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Country Team – UNCT) จัดการประชุมคณะกรรมการสามฝ่ายเพื่อทบทวนผลการดำเนินการประจำปี ๒๕๖๑ ตามกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework – UNPAF) ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๑ ณ วิเทศสโมสร เพื่อประเมินผลการดำเนินการตาม UNPAF หลังจากที่ได้ลงนามเมื่อปี ๒๕๖๐ (Mid-Term Review)

ในวันที่ ๒๕ เมษายน เป็นการหารือเฉพาะระหว่างภาครัฐกับ UNCT มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๙๐ คน โดยนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และนางสาวเดียร์ดรา บอยด์ ผู้ประสานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวเปิดการประชุม ในโอกาสนี้ UNCT ได้นำเสนอผลการดำเนินการในห้วงปี ๒๕๖๑ โดยแบ่งเนื้อหาเป็น ๕ คลัสเตอร์ (5Ps) ได้แก่ (๑) People (๒) Prosperity (๓) Planet (๔) Peace and Governance และ (๕) Partnerships and Data ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานไทยกับสหประชาชาติให้สอดคล้องกับสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญยิ่งขึ้น

ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๒ มีการหารือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมกับ UNCT โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ ๘๐ คน ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบการอภิปราย (Panel Discussion) ในหัวข้อ “Leaving no one behind – what it means to Thailand” หลังจากนั้น ได้มีการแบ่งกลุ่มในรูปแบบ World Caf? โดยผู้แทน UNCT นั่งประจำโต๊ะตาม ๕ คลัสเตอร์ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานขององค์กรของตน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมประชุมอย่างกว้างขวาง ตลอดจนช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือใหม่ ๆ ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ

อนึ่ง UNPAF เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติกับประเทศผู้รับ โดย UNPAF ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๑ มีวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นประเทศรายได้สูง (high-income country) ที่มีการพัฒนาที่ครอบคลุม เท่าเทียม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมียุทธศาสตร์ผลลัพธ์ ๔ ข้อ ได้แก่ (๑) การกำหนดและบังคับใช้นโยบาย (๒) การส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคม (๓) การให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในฐานะหุ้นส่วนในการพัฒนา และ (๔) การขยายการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้/เทคโนโลยีในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงความร่วมมือแบบใต้ – ใต้ ซึ่งผลการทบทวนครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นความร่วมมือที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นระหว่างสหประชาชาติกับหน่วยงานไทย

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ