ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี พิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๒

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 1, 2019 14:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี

พิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๒

วันพุธที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๑๐ - ๐๙.๔๐ น.

ณ ห้อง World Ballroom A-B

โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

  • * * * *

ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ

ท่านเลขาธิการอาเซียน

และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

๑.ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับทุกท่านในการประชุมในวันนี้

๒.เมื่อครั้งปี ๒๕๑๐ การหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจาก ๕ ประเทศ ที่บ้านแหลมแท่น หลายท่านคงจำได้ ด้วย "จิตวิญญาณแห่งบางแสน" และการลงนามปฏิญญากรุงเทพฯ คือจุดเริ่มต้นการเดินทางอาเซียน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งให้ภูมิภาค จากวันนั้นถึงวันนี้ จากสมาคมไปสู่การเป็นประชาคมของ ๑๐ ประเทศ เราส่งต่อความมุ่งมั่นนี้จากรุ่นสู่รุ่น จากอดีตถึงปัจจุบัน และเพื่ออนาคต

๓.วันนี้ เรากลับมาที่สถานที่ก่อตั้งอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือกรุงเทพฯ ประเทศไทย เพื่อต่อเติมความมุ่งมั่น ที่จะสร้างประชาคมอาเซียนของเราที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต ภายใต้แนวคิดหลักของเราคือ "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" และเพื่อจะตอบคำถามสำคัญว่า เราจะสร้างประชาคม ที่เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายที่เผชิญอยู่ในภูมิภาคและในโลกของเราได้อย่างไร เราจะร่วมมือร่วมใจกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนในทุกมิติได้อย่างไร และที่สำคัญก็คือ ประชาชนของพวกเราจะได้รับประโยชน์อะไรจากประชาคมอาเซียน

ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

๔.ตลอด ๖ เดือนที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจของพวกเราทุกคน ทุกประเทศ อาเซียนได้สร้างสรรค์ผลลัพธ์ ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ที่สำคัญคือ การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำอาเซียนได้รับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งได้มี การผลักดันความร่วมมือเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนโดยตรง ทั้งเรื่องของการเปิดตัวคลังเก็บสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในอาเซียนที่จังหวัดชัยนาท และการยกระดับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนให้เป็นองค์กรของอาเซียนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ อีกทั้งได้ร่วมกันรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้าน ขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน

๕.ทั้งนี้ อาเซียนก็ไม่อาจสามารถบรรลุเป์าหมายทุกประการได้โดยลำพัง เราอยู่ร่วมกันหลายประเทศในโลกใบนี้และ ในอาเซียน เราจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือ ร่วมใจ กับประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ ของอาเซียน ทั้งในภูมิภาคและ นอกภูมิภาค และเปิดรับความร่วมมือกับภาคีใหม่ ๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ผมใช้โอกาสจากการเข้าร่วมประชุมผู้นำจี ๒๐ ที่ญี่ปุ่น ร่วมกับเพื่อนสมาชิก ในฐานะประธานอาเซียน ขยายผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอด ครั้งที่ ๓๔ ด้วยการหาช่องทางเสริมสร้างความร่วมมือใน ๔ ประเด็นสำคัญคือ หนึ่ง การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงเงินทุนให้กับสตรี เยาวชน ผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อย ตลอดจนชุมชนห่างไกล สอง การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อนเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนสาม การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหาขยะทะเลการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสี่ การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็น สิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การพัฒนาทักษะ และการพัฒนาสาธารณสุข

๖.ดังนั้น การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นโอกาสดีที่เราจะสร้าง ความต่อเนื่องจากการประชุมต่าง ๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากประเด็นข้างต้นในสามแนวทาง ดังนี้

๗.หนึ่ง คือการการใช้ประโยชน์จากกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ ไม่ว่าจะเป็น อาเซียนบวกสาม อีเอเอส เออาร์เอฟ และความร่วมมืออาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ทั้งนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติให้อาเซียน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนอาเซียนทุกคน ตัวอย่างสำคัญประการหนึ่งคือการที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เชิญ ประเทศนอกภูมิภาคเข้าร่วมการประชุมสัมมนาและนิทรรศการนานาชาติเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ประจำปี ๒๕๖๒ ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ ที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนด้วย

๘.สอง การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ด้วยการใช้ประโยชน์จากแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนฉบับปัจจุบัน กับยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ นอกภูมิภาค ในมิติต่าง ๆ ทั้งเรื่องของ การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ความเชื่อมโยงระหว่างกันทางการเงิน ความเชื่อมโยงระหว่างกันด้านดิจิทัล และความเชื่อมโยงระหว่างกันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนการเจรจาจัดทำ ความตกลง RCEP ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้นำประเทศ RCEP

๙.สาม คือการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค ด้วยการเชิญชวนให้มิตรประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่หรือประเทศเล็ก มาร่วมมือบนหลักการของ 3M ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน เคารพและเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายระหว่างกัน และมุ่งสู่ผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งเราต้องร่วมมือกันแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อจะสร้างและธำรงสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค สมกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ ๕๒ ปีที่แล้ว

ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

๑๐.ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในวันนี้ จะเป็นโอกาสที่ท่านจะได้ทบทวนความมุ่งมั่นร่วมกันนี้ และเส้นทางตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา เพื่อจะหาแนวทางร่วมกันในการแปรเจตนารมณ์สู่การปฏิบัติ และการสร้างสรรค์ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนที่ดีกับมิตรประเทศ องค์กรระหว่างประเทศและภูมิภาค และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดขึ้นได้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๕ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไม่มีประเทศใดเดินได้เพียงลำพัง เราอยู่บนโลกใบเดียวกัน เราต้องเดินไปด้วยกัน รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน เพราะไม่ว่าจะ ผืนดิน ผืนน้ำ และอากาศ เป็นของคนทั้งโลก และทุกประเทศในอาเซียน เราต้องร่วมมือเพื่อนำพาประชาคมอาเซียนของเราไปสู่อนาคตที่มั่นคง ยั่งยืน ตลอดไป ด้วยสันติภาพ

๑๑.ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้ง ขอขอบคุณและขอให้ประสบความสำเร็จด้วยดี เดินทางกลับ โดยสวัสดิภาพ และขอให้มีความสุขในประเทศไทย สวัสดีครับ

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ