กรมความร่วมมือระหว่างประเทศศึกษาดูงานด้านการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ จังหวัดนครนายก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 29, 2020 13:24 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และคณะเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการเผยแพร่และขับเคลื่อนการดำเนินงาน โครงการและกิจกรรม ในภารกิจส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในบริบทหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) รวมทั้งเพื่อสำรวจพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเป็นฐานข้อมูลในการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประเทศคู่ร่วมมือ ณ จังหวัดนครนายก

คณะของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ศึกษาดูงานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๒ แห่ง ได้แก่

๑. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงศรียา ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์ประยุกต์ โดยนายไสว ศรียา หัวหน้าศูนย์ได้บรรยายให้แก่คณะ ซึ่งผันตัวจากอาชีพภารโรงมาเป็นเกษตรกร โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก และศึกษาโครงการพระราชดำริฯ นายไสวฯ ได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรแบบพออยู่พอกิน ซึ่งส่งผลให้ครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจน และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกเหนือจากนี้ ตนได้แบ่งปันความรู้ให้แก่เพื่อนบ้าน และทดลองทำสิ่งใหม่อยู่เสมอ ส่งผลให้ผลงานที่เห็นเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และแฝงไปด้วยเทคนิคทางวิชาการ เช่น การปลูกพริกกลับหัว การถ่วงหินบวบเพื่อให้ปลายขยายยาวขึ้น หรือการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ด้วยการทำเป็นผลไม้ในขวดแก้ว นอกจากนี้ภายในศูนย์เรียนรู้ยังมีสินค้าแปรรูป และสินค้าจากชาวบ้านอีกมากมาย โดยนายไสวฯ ให้ชาวบ้านเข้ามาขายสินค้าได้ โดยไม่เก็บค่าเช่าที่ แต่ต้องขายผลผลิตที่ปลอดสารเคมี และปลอดภัยต่อผู้บริโภคเท่านั้น

๒. ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านทุ่งกระโปรง ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา โดยนายสมหมาย เกตุแก้ว ผู้ใหญ่บ้านได้นำคณะทัศนศึกษา และเล่าการเปลี่ยนแปลงของชุมชนซึ่งมีรายได้มากขึ้น หลังจากที่ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ภายใต้ ‘แผนชุมชน’ ซึ่งเน้นการแก้ปัญหาในครัวเรือน โดยใช้เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ และการแปรรูปผลไม้ท้องถิ่นให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ ๔ ดาว รวมทั้งคำนึงถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กัน เช่น การแก้ปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้ในการบริโภค และการเกษตร การทำธนาคารใต้ดินเพื่อลดการสูญเสียน้ำ ซึ่งการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดได้อย่างคุ้มค่า

การศึกษาดูงานในครั้งนี้ สอดคล้องกับการดำเนินงานใน ๔ มิติ ประกอบด้วย ความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางด้านอาชีพ และความมั่นคงทางด้านพลังงาน สำหรับปัจจัยที่ทำให้ศูนย์การเรียนรู้ทั้งสองแห่งประสบความสำเร็จคือ การศึกษาเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอและรู้จริง ทั้งในแง่ของเทคนิคและวิชาการต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ให้เหมาะสม และถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน รวมทั้งการมีส่วนร่วม และจิตอาสาของคนในชุมชนที่ร่วมกันคิด เสนอแนะ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการประสานงานกับภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเหตุผลให้นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และจะเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญที่จะนำไปดำเนินงานเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือกับประเทศคู่ร่วมมือ ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs Partnership) ของสหประชาชาติ ส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทย และยกสถานะไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศต่อไป

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ