ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Monday February 15, 2021 13:24 —กระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

๑. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โดยที่ประชุมเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน ๑๑๗,๘๘๐ ล้านบาท พร้อมจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตและกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบนโยบายสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เร่งรัดการนำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model- BCG) ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งในสาขาอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร สุขอนามัย การแพทย์ พลังงานและการท่องเที่ยว โดยจะผลักดันในกรอบ BIMSTEC และ APEC ในช่วง ๒ ปีจากนี้ด้วย (๒) เน้นบทบาทด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-๑๙ โดยเฉพาะด้านยาเวชภัณฑ์และวัคซีน และในการเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายต่อความมั่นคงทางสุขภาพในอนาคต และ (๓) เน้นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของไทย ซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วน มากกว่าร้อยละ ๑ ของ GDP และมีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

๒. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศส่งข้อความแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ธารน้ำแข็งถล่มในรัฐอุตตราขัณฑ์ ประเทศอินเดีย

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีข้อความแสดงความเสียใจถึงนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ต่อเหตุการณ์ธารน้ำแข็ง Nanda Devi ถล่มในรัฐอุตตราขัณฑ์ ส่งผลให้น้ำท่วมไหลหลากอย่างฉับพลัน เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

เหตุธารน้ำแข็งถล่มดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ๒ แห่ง และพบผู้เสียชีวิตแล้ว ๓๒ ราย และยังสูญหายอีกกว่า ๒๐๖ ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ในชั้นนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังไม่ได้รับแจ้งว่า มีคนไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

๓. การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในติมอร์-เลสเต ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ดำเนินโครงการพระราชดำริว่าด้วยการพัฒนาเด็กและเยาวชนในติมอร์-เลสเต ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับโรงเรียนในติมอร์-เลสเต จำนวน ๖ แห่ง อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๔ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี ได้ส่งมอบอาคารเรียนขนาด ๖ ห้อง ๑ หลัง แก่โรงเรียน อิสโคลา บาสิกา ในเมืองเฮรา ชานกรุงดิลี และเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ได้ส่งมอบอาคารเรียนหลังใหม่ขนาด ๓ ห้อง และรั้วให้แก่โรงเรียน อิสโคลา บาสิกา ในจังหวัดแอร์เมรา ทั้งนี้ ยังทรงพระราชทานแนวคิดการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันและการสนับสนุนเครื่องมือการเกษตรด้วย

ในพิธีส่งมอบอาคารเรียนดังกล่าว นาย Ant?nio Guterres รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา แห่งติมอร์-เลสเต ได้เข้าร่วมและได้กล่าวแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานโรงเรียนต้นแบบในการพัฒนากระบวนการการเรียนรู้ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยของเด็กและเยาวชนในติมอร์-เลสเต อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

๔. การจัดอันดับของไทยในระดับโลก

มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการจัดอันดับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ขององค์กรต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

๑. ด้านเศรษฐกิจ

จากการจัดอันดับของ Bloomberg Study ไทยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดในปี ๒๕๖๔ และเป็นอันดับที่ ๓๖ ของเขตเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมมากที่สุด

จากการจัดอันดับของ Bloomberg Survey 2020 ไทยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศที่มีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดในโลก ประจำปี ๒๕๖๓

จากการจัดอันดับของ Pocket World in Figures 2020 ไทยเป็นอันดับที่ ๑๒ ของประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุด อันดับที่ ๑๘ ของประเทศที่มีผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมากที่สุด และอันดับที่ ๒๖ ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด

๒. ด้านธุรกิจ

ไทยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศที่เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดประจำปี ๒๕๖๓ และเป็นอันดับที่ ๒ ของประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนที่สุดประจำปี ๒๕๖๓ จากการจัดอันดับของ US News & World Report

๓. ด้านการท่องเที่ยว

เชียงใหม่ถูกยกเป็นอันดับ ๑ ของเมืองที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมากที่สุดประจำปี ๒๕๖๓ จากการจัดอันดับของ Cond? Nast Traveler?s Readers? Choice Award Survey 2020

ไทยเป็นอันดับที่ ๕ ของประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวแบบผจญภัย จากการจัดอันดับของ US News 2020

๔. ด้านสาธารณสุข

ไทยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศที่ฟื้นตัวและรับมือกับการระบาดของโควิด-๑๙ ได้ดีที่สุด จากข้อมูลดัชนีโควิด-๑๙ ระดับโลก (Global Covid-19 Recovery Index)

ไทยเป็นอันดับที่ ๘ ของประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดประจำปี ๒๕๖๔ จากการจัดอันดับของ Numbeo Survey

ไทยเป็นอันดับที่ ๖ ประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพประจำปี ๒๕๖๒ จากการจัดอันดับของ Johns Hopkins University Research

๕. ด้านความยั่งยืนและคุณภาพชีวิต

ไทยเป็นประเทศที่อินเตอร์เน็ตบ้านเร็วที่สุด จากการทดสอบของ Ookla Speedtest ประจำปี ๒๕๖๔

ไทยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศที่ใช้บริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันมากที่สุด จากรายงาน Digital 2021 Report

ไทยเป็นอันดับที่ ๑๐ ของประเทศที่น่าไปเรียนต่อมากที่สุด จากการจัดอันดับของ US News 2020

การที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีในด้านต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นการยอมรับในศักยภาพของประเทศไทยในระดับระหว่างประเทศ และยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคนไทยทุกคนที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ

๕. ประชาสัมพันธ์รายการ Spokesman Live !!! คุยรอบโลกกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. นายรองวุฒิ วีรบุตร อดีตรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอัครราชทูตและรองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา จะเป็นแขกรับเชิญ โดยจะร่วมพูดคุยเรื่องทิศทางการทูตพหุภาคีของไทยหลังโควิด-๑๙ และผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของไทย โดยมีนายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ

๖. ประชาสัมพันธ์โครงการคัดเลือกและพัฒนานักศึกษาฝึกงานอย่างเป็นระบบ (MFA Internship Programme) ประจำปี ๒๕๖๔

ขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ชั้นปีที่ ๓-๔ ที่สนใจฝึกงานกับกระทรวงการต่างประเทศสมัครเข้าร่วม ?โครงการคัดเลือกและพัฒนานักศึกษาฝึกงานอย่างมีระบบ? หรือ MFA Intership Programme ประจำปี ๒๕๖๔ เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ ๑๕ - ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ทางเว็บไซต์ mfa.go.th เลือกหัวข้อ MFA Intership Programme และผู้ผ่านการคัดเลือกจะเข้าฝึกงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ๒๕๖๔

๗. ประชาสัมพันธ์การเปิดตัวรายงาน OECD Investment Policy Review จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ OECD

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (หรือ OECD) มีกำหนดจัดการเปิดตัวรายงาน OECD Investment Policy Review (IPR) ซึ่งช่วยประเมินสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนของไทย และจัดทำข้อเสนอแนะนโยบาย/มาตรการเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการลงทุนในประเทศ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้สนใจสามารถสืบค้นรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ oecd.org ทั้งนี้ จะมีการจัดเสวนาระดมสมองระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

๘. ประชาสัมพันธ์การอบรมหลักสูตรทักษะสายอาชีพ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

กรมพัฒนาฝึมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัดอบรมหลักสูตรทักษะสายอาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อสู้วิกฤตโควิด-๑๙ โดยไม่ต้องลงทะเบียนและไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนี้ มีทักษะที่เปิดอบรมทั้งสิ้นจำนวน ๑๕ ทักษะ อาทิ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างซ่อมโทรทัศน์ การซ่อมโน้ตบุ๊คและไมโครคอมพิวเตอร์ การประกอบอาหารไทย ช่างขับรถยก ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ช่างพ่นสีรถยนต์ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างไฟฟ้าในอาคาร

ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับการอบรมผ่านทางเว็บไซต์ http://eit.dsd.go.th/dsdtraining.php ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่คนไทยในต่างประเทศ ที่สามารถพัฒนาทักษะฝีมือได้ทางออนไลน์

๙. กรมการกงสุลประชาสัมพันธ์กรณีคนไทยเดินทางไปต่างประเทศ

กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ขอประชาสัมพันธ์ให้คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศจัดทำประกันสุขภาพเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ และหากต้องเดินทางไปพำนักระยะยาว ก็ขอให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจะได้สามารถใช้สิทธิตามสวัสดิการที่พึงมีได้ในประเทศปลายทาง อาทิ ประกันสังคม ประกันสุขภาพ รวมถึงในกรณีที่เจ็บป่วยก็สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องยืมเงินของทางราชการ กรมการกงสุล รวมถึงสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ก็พร้อมจะพิจารณาให้ยืมเงินตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเป็นค่าเดินทางกลับประเทศไทยได้ตามความจำเป็น

๑๐. การตอบคำถามสื่อมวลชน ในเรื่องท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา

ไทยมีท่าทีต่อสถานการณ์ในเมียนมาที่สอดคล้องกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยบรูไนดารุสซาลามได้ออกแถลงการณ์ประธานอาเซียนว่าด้วยสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ (๑) ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ติดตามพัฒนาการในปัจจุบันของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาอย่างใกล้ชิด (๒) อาเซียนระลึกถึงวัตถุประสงค์และหลักการที่ปรากฏในกฎบัตรอาเซียน รวมถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การเคารพ และปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (๓) ความมั่นคงทางการเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสาคัญต่อการบรรลุประชาคมอาเซียนที่สงบสุข มั่นคง และมั่งคั่ง และ (๔) สนับสนุนให้ดำเนินการเจรจาการปรองดองและการกลับคืนสู่สภาวะปกติตามเจตจำนง และผลประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา

ไทยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด มิตรที่หวังดีและมีความห่วงใยซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นสมาชิกของครอบครัวเดียวกันภายใต้อาเซียน

ไทยและเมียนมายึดถือหลักการว่าความมั่นคงและความมั่งคั่งของเมียนมาคือความมั่นคง และความมั่งคั่งของไทยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ สันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาจึงมีความสำคัญสำหรับไทยอย่างมาก และไทยหวังว่าสถานการณ์จะได้รับการแก้ไขอย่างสันติด้วยการพูดคุยหารือกันและกลับคืนสู่ปกติในเร็ววันเพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมา

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ