รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ในการกล่าวเปิดการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ครั้งที่ ๘

ข่าวต่างประเทศ Friday April 2, 2021 13:22 —กระทรวงการต่างประเทศ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ในการกล่าวเปิดการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ครั้งที่ ๘

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังวิกฤตโควิด-๑๙ จะต้องก้าวผ่านวิถีเดิม (Business as Usual) และคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในยุค New Normal ในการกล่าวเปิดการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ครั้งที่ ๘

ในการกล่าวถ้อยแถลงผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ช่วงพิธีเปิดการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals ? SDGs) และการฟื้นฟูให้กลับมาดีกว่าเดิมหลังวิกฤตโควิด-๑๙ การสนับสนุนให้วัคซีนโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณประโยชน์ระดับโลกที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ และการไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และเพื่อฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ ๓ ประเด็นหลักที่ทุกประเทศควรให้ความสำคัญ ได้แก่ (๑) การสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเปลี่ยนรูปโดยใช้ homegrown development approaches เช่น ไทยที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบรรลุ SDGs (๒) การลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในยุค New Normal และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นในช่วงโควิด-๑๙ ต่อไป รวมถึงการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy ของไทย

การประชุม APFSD ครั้งที่ ๘ จัดขึ้นแบบไฮบริด ทั้งที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๖ มีนาคม ๒๕๖๔ ภายใต้หัวข้อหลัก ?Sustainable and resilient recovery from the coronavirus disease (COVID-19) pandemic in Asia and the Pacific? เพื่อหารือแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนและรวดเร็วจากวิกฤติโควิด-๑๙ และหาแนวทางเร่งรัดการบรรลุ SDGs ภายใต้ทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง (Decade of Action) โดยมีประเทศสมาชิกเอสแคป ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และหน่วยงานสหประชาชาติเข้าร่วม

นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยต่อที่ประชุม ระบุถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการดำเนินการของไทยเพื่อรับมือกับวิกฤติดังกล่าวผ่านระบบสาธารณสุขที่เข็มแข็งและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และย้ำความสำคัญของการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ และการขยายฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนไปยังทุกภาคส่วน โดยที่ไทยจะนำเสนอรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ต่อที่ประชุม High-level Political Forum (HLPF) ณ นครนิวยอร์ก ในปีนี้

ในช่วงของการประชุม กรมองค์การระหว่างประเทศจัดกิจกรรมเสวนาคู่ขนาน ๒ รายการ ได้แก่ (๑) Transformative Models to Build Back Better: Thailand?s approach to a resilient, inclusive, and sustainable COVID recovery เพื่อย้ำความสำคัญของแนวทางการพัฒนาที่เป็นของตนเองในการฟื้นฟูให้กลับมาดีกว่าเดิมหลังโควิด-๑๙ โดยมี ม.ล. สุภรัตน์ เทวกุล ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดงาน และมีผู้เสวนาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ Japan International Cooperation Agency (JICA) และ (๒) Volunteering as a Transformative Strategy for the Decade of Action ร่วมกับ UN Volunteers (UNV) ซึ่งกิจกรรมทั้งสองมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังและผู้รับชมผ่าน Facebook Live รวมกว่า ๑,๐๐๐ คน

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ