แถลงข่าวร่วมของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 4, 2009 14:28 —กระทรวงการต่างประเทศ

1. ฯ พณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ในฐานะของประธานอาเซียนและผู้ประสานงานการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) ได้รับมอบหมายจากผู้นำ EAS ให้ออกแถลงข่าวร่วมของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ปี พ.ศ. 2548 ผู้นำได้หารือประเด็นต่างๆ รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ผู้นำเห็นพ้องว่า โลกกำลังเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน และได้เรียกร้องให้มีการตอบสนองด้านนโยบายที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเงิน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

2. ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของเอเชียในฐานะศูนย์กลางของการเจริญเติบโตที่เปิดกว้างสู่โลกภายนอก ผู้นำเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมและประสานกันเพื่อรับมือกับผลกระทบของวิกฤตการเงินและภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ และการขยายอุปสงค์ ผู้นำชื่นชมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังและการเงิน และการดำเนินนโยบายอื่นๆ ของประเทศ EAS และมุ่งมั่นที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เพื่อรักษาการเจริญเติบโตและการจ้างงาน ลดความยากจน ฟื้นฟูความเชื่อมั่น และสนับสนุนเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจมหภาคในระยะกลางถึงระยะยาว นอกจากนี้ ผู้นำยังเห็นพ้องว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจะไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่ปรารถนา หากปราศจากระบบการเงินที่สามารถมีบทบาทในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

3. ผู้นำย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการต่อต้านมาตรการปกป้องและบิดเบือนทางการค้า และการละเว้นการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าใหม่ๆ ผู้นำเห็นพ้องถึงการบรรลุข้อสรุปของวาระการพัฒนาโดฮา (Doha Development Agenda) อย่างรวดเร็ว มีมรรคผลกว่าที่เป็นอยู่และสมดุล บนพื้นฐานของความคืบหน้าจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และจะสร้างความมั่นใจ อีกทั้งจะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ผู้นำยังเห็นพ้องอีกด้วยว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกและการเปิดเสรีทางการค้าจะช่วยทำให้ภูมิภาค EAS เป็นตลาดที่น่าสนใจและเป็นเป้าหมายในการลงทุนมากยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ผู้นำรับทราบว่า ข้อริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบด้านในเอเชียตะวันออก (Comprehensive Economic Partnership in East Asia — CEPEA) จะส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาคให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ผู้นำจึงรอที่จะรับทราบผลการศึกษาในระยะที่ 2 ของ CEPEA ในการประชุม EAS ครั้งที่ 4 เพื่อแสดงถึงความยึดมั่นร่วมกัน ผู้นำได้สัญญาที่จะลดผลกระทบจากการบิดเบือนทางการค้า อันเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม รวมทั้งเห็นพ้องที่จะดำเนินการร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อการนี้

4. ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งเห็นได้จากวิกฤตการเงินและการถดถอยทางเศรษฐกิจของโลก และความยากลำบากของประเทศ EAS ผู้นำเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการพัฒนากรอบความร่วมมือและการรวมตัวทางการเงินในภูมิภาค ผู้นำชื่นชมมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative — CMI) ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 รวมถึงความพยายามที่จะเร่งรัดกระบวนการพัฒนา CMI ไปสู่ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี และมาตรการริเริ่มตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative- ABMI) ในการพัฒนาและส่งเสริมตลาดการเงินในภูมิภาค

5. ผู้นำเห็นพ้องว่า กรอบการหารือที่อาเซียนมีบทบาทนำในเอเชียและเอเชีย-แปซิฟิก จะช่วยปกป้องภูมิภาคนี้จาก วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในระดับโลกและภูมิภาคในอนาคต

6. ผู้นำสนับสนุนผลการหารือและข้อตกลงของการประชุมสุดยอดกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2552 เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น การเจริญเติบโตและภาวะการมีงานทำ ปฏิเสธการกีดกันทางการค้า ส่งเสริมการค้าและการลงทุนโลก เสริมสร้างความแข็งแกร่งของกฏระเบียบทางการเงินเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น ปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และการอัดฉีดเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศเศรษฐกิจใหม่และกำลังพัฒนา เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้นำได้ให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมความพยายามของ G20 ที่จะเพิ่มผลผลิตของโลกให้ได้ร้อยละ 4 ภายในสิ้นปี 2010 และเร่งรัดกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ

7. ผู้นำย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนามาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อที่จะบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงโครงข่ายทางสังคมและการให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

8. ผู้นำแสดงความตั้งใจที่จะเสริมสร้างศักยภาพการเจริญเติบโตและการขยายอุปสงค์ของภูมิภาค รวมถึงการเร่งรัดการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายและมาตรการเพื่อการขยายอุปสงค์ภายในประเทศ การให้ความช่วยเหลือภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการส่งเสริมความพยายามในการร่วมมือในภูมิภาค เช่น การรวมตัวกันของอาเซียน การอำนวยความสะดวกในด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาค และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน

9. ผู้นำเห็นพ้องที่จะสนับสนุนความพยายามของสถาบันสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Export Credit Agencies - ECAs) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารเอกชน เพื่อให้มั่นใจว่ามีเงินทุนเพียงพอแก่ภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และเพื่อรักษาการไหลเวียนของการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ผู้นำยินดีที่สถาบันสินเชื่อเพื่อการส่งออก จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านการประกันภัยต่อ (re-insurance) การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการแลกเปลี่ยนข้อมูล

10. ผู้นำยืนยันความสำคัญของการร่วมมือด้านการเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคการเงินของประเทศ EAS ซึ่งรวมถึงด้านกฏระเบียบของภาคการเงิน ผู้นำชื่นชมความพยายามของเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน EAS ในการผลักดันประเด็นดังกล่าว และรับทราบว่ารายงานการประเมินความต้องการในการเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคการเงินในประเทศ EAS จะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการสร้างขีดความสามารถ ซึ่งจะนำมาพิจารณาอีกครั้งในการประชุม EAS ครั้งที่ 4 ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552

11. เพื่อที่จะส่งเสริมการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาค ผู้นำสนับสนุนให้สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank — ADB) และสำนักเลขาธิการอาเซียน ร่วมมือกันในการจัดทำแผนงานที่มีความสอดคล้องกันโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยประสานงาน เร่งรัด ยกระดับ และขยายมาตรการริเริ่มในอนุภูมิภาค และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน นอกจากนี้ ผู้นำยังเรียกร้องให้ ERIA จัดทำข้อเสนอแนะ เชิงนโยบาย เพื่อการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ส่งเสริมการรวมตัวกันในภูมิภาคและความเป็นหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออก

ออก ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2552 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ