แถลงการณ์ประธาน การหารืออย่างไม่เป็นทางการของรมต.ต่างประเทศ ที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จ.ภูเก็ต

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 23, 2009 13:35 —กระทรวงการต่างประเทศ

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

แถลงการณ์ประธาน

การหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศ

ที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS)

วันที่ 22 กรกฎาคม 2552

จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย

**************************

1. การหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกมีขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 โดยมีนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

2. รัฐมนตรีต่างประเทศได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและมีผลลัพธ์ที่ดีเกี่ยวกับประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเมืองทั้งในภูมิภาคและระหว่างประเทศ และยืนยันเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการดำเนินการตามข้อตกลงในการประชุมสุดยอดที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจำเป็นของการฟื้นฟูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน การต่อต้านมาตรการปกป้องทางการค้า การปฏิรูปสถาบันระบบการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐที่ครอบคลุม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืนในทุกด้าน

3. รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีกับแถลงข่าวร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งออกโดยประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนและประเทศผู้ประสานงานการประชุม EAS เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 รัฐมนตรีต่างประเทศเห็นว่าประเทศ EAS สามารถแสดงบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูความมั่นคงทางการเงินและเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินของภูมิภาค

4. รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีกับข้อเสนอของไทยที่จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านสินเชื่อเพื่อการค้าในเวที EAS ร่วมกับประเทศ EAS ที่สนใจและสถาบันการเงินและสถาบันวิจัยในภูมิภาค เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia - ERIA) เพื่อประเมินความต้องการด้านสินเชื่อเพื่อการค้าของประเทศ EAS

5. รัฐมนตรีต่างประเทศแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินและการยิงจรวดที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี ซึ่งเป็นการละเมิดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องและเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีดำเนินการตามข้อบังคับและข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีต่างประเทศแสดงความสนับสนุนที่ให้กระบวนการเจรจาหกฝ่ายกลับมาประชุมอีกครั้งในเวลาอันใกล้ อีกทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการหารือประเด็นที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับความห่วงกังวลด้านมนุษยธรรม รัฐมนตรีต่างประเทศยืนยันการสนับสนุนบทบาทของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum -ARF) ในฐานะเวทีความร่วมมือด้านความมั่นคงหลักของภูมิภาคและมีประเทศที่อยู่ในกระบวนการเจรจาหกฝ่ายร่วมอยู่ด้วยทุกประเทศ เพื่อนำไปสู่สันติภาพและความมั่นคงอย่างถาวรในคาบสมุทรเกาหลี

6. รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีต่อการเยือนพม่าของนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2552 และได้ย้ำว่าองค์การสหประชาชาติมีบทบาทพิเศษต่อกระบวนการสร้างความปรองดองภายในพม่า พร้อมทั้งสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศพม่าซึ่งต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วม ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใส รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีที่รัฐบาลพม่ากับองค์การสหประชาชาติได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดภายหลังเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กิส

7. รัฐมนตรีต่างประเทศประณามการกระทำที่เป็นการก่อการร้ายที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 จากบุคคลใดก็ตามที่เป็นผู้กระทำการ ซึ่งทำให้มีผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีผู้ใดยอมรับได้ อีกทั้งได้แสดงความเสียใจแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ประชาชนและรัฐบาลอินโดนีเซีย รัฐมนตรีต่างประเทศย้ำความมั่นใจที่มีต่อรัฐบาลอินโดนีเซียในการที่จะนำผู้กระทำความผิด สมาชิกองค์กร ผู้สนับสนุนด้านการเงิน และผู้อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายครั้งนี้มาลงโทษ และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเร่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคในการต่อต้านการก่อการร้ายและผู้ที่ก่อความรุนแรงสุดขั้วต่อไป อีกทั้งเน้นย้ำความจำเป็นในการเร่งเสริมสร้างศักยภาพของภาคส่วนในสังคมที่เป็นกลางและส่งเสริมการหารือเพื่อสมานฉันท์

8. รัฐมนตรีต่างประเทศรับทราบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นความกังวลร่วมกันของประเทศ EAS และเพื่อเป็นการดำเนินการล่วงหน้าไปสู่การประชุม ที่กรุงโฮเปนเฮเกนในปลายปีนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสนับสนุนรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม EAS ซึ่งจะพบกันที่สิงคโปร์ในเดือนตุลาคม 2552 ให้พัฒนาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าทีร่วมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะสนับสนุนการประชุมที่กรุงโฮเปนเฮเกน และแสดงความหวังว่าการประชุมที่กรุงโฮเปเฮเกนจะมีผลลัพธ์ที่ความยุติธรรม เท่าเทียมกันและทะเยอทะยาน อันตั้งอยู่บนหลักการของความรับผิดชอบที่ร่วมกันแต่มีความแตกต่าง

9. รัฐมนตรีต่างประเทศรับทราบถึงความพร้อมของประเทศไทยในการจัดการหารือภายใต้กรอบองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Change Talks) ระหว่างวันที่ 28 กันยายน - 9 ตุลาคม 2552 เพื่อเป็นการสนับสนุนการประชุมของอนุสัญญารัฐภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโฮเปนเฮเกน และข้อเสนอของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะจัดการสัมมนา EAS ครั้งที่ 2 ว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในเดือนกันยายน 2552 และข้อเสนอของอินเดียที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเทคโนโลยีที่สะอาดในเดือนตุลาคม 2552

10. เนื่องจากความแปรปรวนของภูมิอากาศอันเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพของชั้นบรรยากาศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รัฐมนตรีต่างประเทศได้ย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ และสนับสนุนการออกแถลงการณ์ว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติในการประชุม EAS ครั้งที่ 4 ในเดือนตุลาคม 2552 ที่ประเทศไทย

11. เพื่อเป็นการรับมือกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A(H1N1) ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายใหม่ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค รัฐมนตรีต่างประเทศสนับสนุนให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศ ดำเนินความพยายามร่วมกันในการต่อสู้กับการระบาดของโรคดังกล่าว รวมถึงให้มีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุด และความรู้ในการรับมือกับการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐมนตรีต่างประเทศได้ย้ำ ความปรารถนาที่จะจัดตั้งคลังสำรองเวชภัณฑ์เพิ่มเติม และการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการจัดหายาและวัคซีนต้านไข้หวัดในราคาที่ถูกลง

12. รัฐมนตรีต่างประเทศเห็นพ้องว่า การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญอันจะนำไปสู่การลดช่องว่างการพัฒนา การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รัฐมนตรีต่างประเทศรับทราบความคืบหน้าในความพยายามของอินเดียในการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งสามารถทำหน้าที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมและความรู้ระหว่างประเทศในภูมิภาค อีกทั้งความคืบหน้าของผลของเครือข่ายแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออก (Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths-JENESYS) การศึกษาวิจัยในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาซึ่งออสเตรเลียเป็นผู้ให้การสนับสนุน และข้อเสนอของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะมอบทุนการศึกษาของรัฐบาลจำนวน 2000 ทุน และทุน MPA จำนวน 200 ทุนให้แก่ประเทศ EAS ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ในอีก 5 ปีข้างหน้า และจัดการประชุมด้านความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีที่การศึกษาจะเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคม 2552

13. รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีกับข้อริเริ่มของนิวซีแลนด์ร่วมกับอินโดนีเซียในการเป็นผู้สนับสนุนโครงการสื่อมวลชนในภูมิภาค EAS เอเชียแปซิฟิก (EAS Asia Pacific Regional Forum Media Programme) ณ กรุงจาการ์ตา ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีจุดประสงค์ให้มีการพัฒนาความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างชุมชนในภูมิภาค นิวซีแลนด์และอินโดนีเซียได้วางแผนที่จะจัดโครงการเกี่ยวกับสื่อมวลชนในภูมิภาคในขั้นต่อไปในปีนี้

14. รัฐมนตรีต่างประเทศชื่นชมต่อความพยายามในการศึกษาความเป็นไปได้ของการศึกษาความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมในเอเชียตะวันออก (Comprehensive Economic Partnership in East Asia - CEPEA) เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีกับรายงานการศึกษาระยะที่ 2 ของ CEPEA ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุม EAS ครั้งที่ 4 ในเดือนตุลาคม 2552 ที่ประเทศไทย และรับทราบถึงความสำคัญของการส่งเสริมการคมนาคมและการเชื่อมโยงทาง เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างในการพัฒนา และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับบุคคลในภูมิภาค

15. รัฐมนตรีต่างประเทศชื่นชมการเปิดสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก(Economic Research Institute of ASEAN and East Asia - ERIA) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ซึ่งมีที่ตั้งชั่วคราวอยู่ที่กรุงจาการ์ตา โดยเป็นสถาบันวิจัยอิสระที่จะให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายเพื่อส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างในการพัฒนา และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน

16. รัฐมนตรีต่างประเทศยืนยันการสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาค และชื่นชมการเริ่มมีผลบังคับใช้ของกฎบัตรอาเซียน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 รวมถึงการลงนามในปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนการนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 รัฐมนตรีต่างประเทศย้ำเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน

17. รัฐมนตรีต่างประเทศได้หารือเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ EAS และชื่นชมการพัฒนาที่น่ายินดีของ EAS ในความร่วมมือในภูมิภาค อันจะสนับสนุนและส่งเสริมกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ รัฐมนตรีต่างประเทศเน้นย้ำถึงหลักการของ EAS ในการเป็นเวทีสำหรับผู้นำในการหารือทางยุทธศาสตร์บนหลักการของความเปิดกว้าง โปร่งใส และครอบคลุม อันจะทำให้ EAS สามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รัฐมนตรีต่างประเทศรับทราบถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องสำหรับการเข้าร่วมใน EAS ของรัสเซียในอนาคต

18. รัฐมนตรีต่างประเทศรับทราบความสำคัญของการหารือในภูมิภาคเพื่อแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมเสถียรภาพและรุ่งเรืองไพบูลย์ในภูมิภาค บนพื้นฐานของกลไกต่างๆ ที่มีอยู่รวมถึง EAS โดยมีอาเซียนเป็นพลังขับเคลื่อน และชื่นชมการชี้แจงของออสเตรเลียเกี่ยวกับข้อเสนอของออสเตรเลียในเรื่องประชาคมเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific community)

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ