การประชุม German — Thai Symposium on Nanoscience and Nanotechnology (GTSNN)

ข่าวต่างประเทศ Friday September 18, 2009 11:52 —กระทรวงการต่างประเทศ

การประชุม German — Thai Symposium on Nanoscience and Nanotechnology (GTSNN) และการสัมมนา Future of Fuel Cell Research and Development

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จะจัดประชุมทางวิชาการ German — Thai Symposium on Nanoscience and Nanotechnology (GTSNN) ระหว่างวันที่ 21 - 22 กันยายน 2552 ที่โรงแรมเชียงใหม่ ออคิดส์ จังหวัดเชียงใหม่

การประชุมทางวิชาการดังกล่าว จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีประชุมเสวนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการนำเสนอในแนวทางการประยุกต์โดยใช้ศาสตร์ ด้านนาโนวิทยาและนาโนเทคโนโลยีกับภาคอุตสาหกรรม การประชุมดังกล่าวจะมีผู้แทนจากภาคเอกชนและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิชาการจากมหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นนำของเยอรมนีมาบรรยาย อาทิ มหาวิทยาลัย Chemnitz University of Technology และ Center of Competence Mentoring BMBF NWG Biohybrid Function System ในขณะเดียวกัน ผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิชาการจากมหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นนำของไทยจะมาบรรยายในเรื่องนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า Synchrotron Radiation Techniques จากเครื่องกำเนิด “แสงสยาม” โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมฟังการบรรยาย สามารถรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซด์ www.gtsnn2009.cmuchem.com

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการสัมมนา Seminar on Future of Fuel Cell Research and Development ในวันที่ 24 กันยายน 2552 ที่ห้องประชุม มหาวิทยาลัยนเรศวร จ. พิษณุโลก เพื่อเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านเซลส์เชื้อเพลิงซึ่งประเทศไทยมีความต้องการพัฒนาสำหรับใช้ในด้านพลังงานเพื่ออนาคต การจัดประชุมและสัมมนาเชิงวิชาการดังกล่าสข้างต้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายเชิงรุกของกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-เยอรมนี ภายใต้หลักการดำเนินการที่เรียกว่า Innovative lead the way เพื่อสร้างโอกาสในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคส่วนต่างๆ โดยมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ทั้งในระดับรัฐต่อรัฐ ภาครัฐกับ ภาคเอกชน ภาคเอกชนกับภาคเอกชน และในระดับประชาชนต่อประชาชน ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทูต เพื่อประชาชนดังกล่าว ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และคนไทยที่พำนักอาศัยและทำงานอยู่ในเยอรมนี รวมทั้งคนไทย ในประเทศไทย สืบเนื่องจากการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในสังคม โดยกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เปิดประตูเข้าสู่นวัตกรรมใหม่เหล่านี้

กระทรวงการต่างประเทศ ให้ความสำคัญต่อสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทยในทวีปยุโรป ประเทศไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์อันดีมาโดยตลอดเป็นระยะเวลากว่า 150 ปี โดยไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมนีในปี 2405 ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้านั้น เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในยุโรป โดยในปี 2551 ไทยส่งออกสินค้าไปยังเยอรมนีคิดเป็นมูลค่า 3,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 4,495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่จุดแข็งของเยอรมนีอยู่ที่นวัตกรรม การค้นคว้าและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและพลังงาน ไทยจึงขยายความร่วมมือในด้านนี้กับ เยอรมนีอย่างต่อเนื่อง

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ