รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 16, 2010 11:04 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553

Summary:

1. ครม.ศ.ก.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า

2. คลอดเกณฑ์คุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์

3. สหภาพยุโรปปรับเพิ่มคาดการณ์ขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะกรีซ

Highlight:
1. ครม.ศ.ก.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า
  • คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากผลกระทบเงินบาทที่แข็งค่า โดยเห็นชอบมาตรการอนุญาตให้ชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศและลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออกเพื่อทดแทนกับส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ธปท.เผยว่า ธปท.จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ตกลงชำระค่าระวางเรือในการคำนวณภาษี เพื่อช่วยผู้ประกอบการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน หลังธปท.ได้ผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการชำระค่าระวางเรือเป็นเงินสกุลดอลลาร์หรือเงินตราต่างประเทศ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่านั้น จะช่วยลดภาระต้นทุนบางส่วนให้แก่ผู้ประกอบการและลดผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า จากการติดตามสถานการณ์ค่าเงินและจำนวนเงินทุนไหลเข้าที่อาจส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอีก ซึ่งขณะนี้ธปท.กำลังติดตามปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)อย่างใกล้ชิด รวมถึงการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศที่ได้รับผลมาจากมาตรการผ่อนคลายด้านปริมาณเงินหรือ QE 2 ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ด้วย ว่าจะมีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินบาทอย่างไร ซึ่งล่าสุดค่าเงินบาท ณ วันที่ 15 พ.ย.53 อยู่ที่ 29.88 บาทต่อดอลลาร์สรอ.
2. คลอดเกณฑ์คุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์
  • รองผู้ว่า ธปท. สายเสถียรภาพสถาบันการเงินแถลงออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ แต่การแข่งขันการปล่อยสินเชื่อฯและการแข่งขันด้านการตลาดมีมากขึ้น ซึ่งอาจผลักดันให้เกิดการปล่อยสินเชื่อฯที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์กำหนดให้วางเงินดาวน์ในการซื้อที่อยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 10% หรือ Loan to Value Ratio (LTV Ratio) ในระดับ 90% ซึ่งต่อไป ธปท.จะกำหนด LTV Ratio เป็น 3 กรณี 1) สินเชื่อ 10 ล้านขึ้นไป กำหนดให้ LTV Ratio ที่สัดส่วน 80% 2) สินเชื่อคอนโดฯต่ำกว่า 10 ล้านลงมา LTV Ratio 90% และ 3) สินเชื่อบ้าน ทาวน์เฮาส์ ต่ำกว่า 10 ล้าน LTV Ratio ที่ 95%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปล่อยสินเชื่อในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 53 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดย ณ สิ้นเดือน ส.ค. สถาบันฝากเงินมียอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชน 9,294.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ดังนั้น มาตรการที่ออกมาใหม่นี้ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องกันสำรองเงินกองทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักความเสี่ยงในเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาการเกิด NPL ที่อาจจะตามมาในอนาคต หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เข้าสู่ขาขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
3. สหภาพยุโรปปรับเพิ่มคาดการณ์ขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะกรีซ
  • ยูโรสแตตหรือหน่วยงานสิถิติสหภาพยุโรปได้ปรับเพิ่มประมาณการการขาดดุลงบประมาณปี 52 ของกรีซ จากเดิมร้อยละ 13.6 มาเป็นร้อยละ 15.4 ของจีดีพีอีกทั้งยังปรับเพิ่มตัวเลขสัดส่วนหนี้สาธารณะมาเป็นร้อยละ 127จากเดิมร้อยละ 115 ของจีดีพีอีกด้วย ทั้งนี้การประกาศครั้งนี้ล่าช้ากว่ากำหนดการถึงกว่า 3 สัปดาห์เนื่องจากประสบปัญหาบางประการ อนึ่งรัฐบาลกรีซปรับเพิ่มคาดการณ์การขาดดุลงบประมาณปี 53 ตลอดจนสัดส่วนหนี้สาธารณะในปี 53 เป็นร้อยละ 9.4 และ 144 ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่ถูกปรับเพิ่มสูงขึ้นในครั้งนี้ สะท้อนปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังไม่คลี่คลายของประเทศกลุ่มพิกส์ (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน) โดยกรีซเป็นประเทศที่มีปัญหาในระดับสูงสุด ดังนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายขาดดุลงบประมาณที่ร้อยละ 7.6 ของจีดีพีในปี 54 ได้นั้นรัฐบาลกรีซเป็นต้องลดรายจ่ายภาครัฐลงเป็นจำนวนมากประกอบกับลดการกู้ยืมลงซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจกรีซฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดอีกได้ อนึ่ง กรีซมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับไทยในระดับต่ำทั้งในแง่การค้าและการลงทุนผลที่จะกระทบกับไทยจึงไม่น่าจะมากนัก อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจกรีซที่เปราะบางอาจทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจลงทุนในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำแล้วหันมาลงทุนเพิ่มเติมในประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีเช่น จีน อาเซียน รวมทั้งไทยได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ