รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 4, 2011 10:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554

Summary:

1. ผลสำรวจดัชนีธุรกิจของลูกค้าธนาคารกรุงไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ปรับเพิ่มขึ้น

2. ดัชนีผูจัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซนเดือน ม.ค. 54 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.0

3. ราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มสูงที่สุดในรอบ 28 เดือนที่ระดับ 103 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

Highlight:
1. ผลสำรวจดัชนีธุรกิจของลูกค้าธนาคารกรุงไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ปรับเพิ่มขึ้น
  • ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงผลการจัดทำดัชนีธุรกิจกรุงไทย หรือ Krung Thai Business Index (KTBI) ซึ่งเป็นดัชนีจากการสำรวจความเชื่อมั่นของนักธุรกิจทุกประเภทธุรกิจ ทุกขนาด ทั่วประเทศเกือบ 2,000 ราย ว่า ดัชนี KTBI ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ที่สำรวจในช่วงเดือนธันวาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 54.75 ในไตรมาสก่อน เป็น 55.69 โดยนักธุรกิจมีความเชื่อมั่นในด้านภาวะธุรกิจโดยรวม ด้านภาวะตลาด และด้านภาวการณ์ผลิต-การลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจที่มีต่อภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับสูงขึ้นจากระดับ 53.91 ในไตรมาสก่อน เป็น 56.31 เนื่องจากมีปัจจัยเอื้ออำนวย ทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศของรัฐบาล และรายได้เกษตรกรมีแนวโน้มสูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของ KTBI สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนธันวาคม 2553 ที่สำรวจโดยสภาอุตสาหกรรม ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 109.7 ซึ่งบ่งชี้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอยู่ในระดับดี ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของดัชนีทั้งสอง นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2554 ว่าภาคธุรกิจจะยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 2554 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.5 หรืออยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0 โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 4.9 และร้อยละ 11.3 ตามลำดับ
2. ดัชนีผูจัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซนเดือน ม.ค. 54 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.0
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (MARKIT Composite PMI) ของยูโรโซนในเดือน ม.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 57.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.5 และสูงกว่าคาดการณที่ระดับ 56.3 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 53 ส่งผลให้หลายฝ่ายประมาณการว่าเศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะสามารถขยายตัวได้ดีในปี 54 โดยเฉพาะในไตรมาสแรกที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขดัชนีดังกล่าวในเดือน ม.ค. 54 บ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสแรก กล่าวคือดัชนี PMI ที่มีค่ามากกว่า 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะต่อไป ซึ่งทำให้คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 54 อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIIGS ยังถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของภูมิภาคและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป แม้ว่าจะมีมาตรการความช่วยเหลือจากทางการยุโรปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2554 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8—1.8 คาดเมื่อ ธ.ค. 53)
3. ราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มสูงที่สุดในรอบ 28 เดือนที่ระดับ 103 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
  • ราคาน้ำมันดิบโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ใน New York ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 28 เดือนที่ระดับ 103 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่สัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าประจำเดือน มี.ค. 54 (NYMEX) ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 90.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหลังจากที่สถานะการณ์การเมืองของประเทศอียิปต์ยังคงมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ตลาดยังคงมีความวิตกกังวลว่าอาจจะมีการตรึงอุปทานการส่งออกน้ำมันจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นที่เกิดขึ้นตามภาวะการกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างมีนัยยะสำคัญ และน่าจะมีการปรับตัวลดลงไปอยู่ในระดับพื้นฐานหลังจาก

สถานะการณ์คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม หากสถานะการณ์ทางการเมืองของอียิปต์ลุกลามยาวและเกิดเหตุการณ์ตรึงอุปทานน้ำมันขึ้นอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบโลกซึ่งจะมีมีผลต่อภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทยเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศมี่ราคาสินค้าผันผวนไปตามราคาน้ำมันค่อนข้างสูง (Cost-push inflation) แต่ด้วยสัดส่วนตลาดส่งออกสินค้าไทยไปยังอียิปต์ที่อยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 767.7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐนั้นไม่น่าจะส่งผลต่อภาวะการส่งออกของหรือภาคเศรษฐกิจจริงของไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ