รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 4, 2011 11:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2554

Summary:

1. ไทยออยล์คาดน้ำมันแกว่งในช่วง 105-110 ดอลลาร์/บาร์เรล

2. รถยนต์ฟื้นตัวยอดผลิตหายแค่ 9 หมื่นคัน

3. ดัชนี PMI สหรัฐฯ เดือนมิ.ย. 54 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.3

Highlight:
1. ไทยออยล์คาดน้ำมันแกว่งในช่วง 105-110 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • บริษัทไทยออยล์ ประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงครึ่งหลังปี 54 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 105 - 110 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากปริมาณอุปทานน้ำมันในตลาดที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของสำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA ที่ปริมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในช่วงเวลา 30 วัน ความกังวลต่อวิกฤติหนี้ยุโรปและเศรษฐกิจโลก ที่จะขยายตัวช้าลงในช่วงครึ่งปีหลัง จะเป็นปัจจัยหลักกดดันราคาน้ำมันดิบ ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ขณะที่ ญี่ปุ่น ต้องใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าแทนกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีปัญหา ส่งผลให้การใช้น้ำมันของโลกในช่วงไตรมาส 3 นี้ อาจปรับเพิ่มขึ้นมาทำสถิติสูงสุดที่ระดับ 90 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ จากนั้น คาดว่า ในช่วงไตรมาส 4 จากความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาวที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันของโลก ตึงตัวมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 54 แนวโน้มปรับตัวสูงกว่าปี 53 เนื่องจาก (1) ความต้องการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศนอกกลุ่ม OECD ได่แก่ จีน และอินเดีย (2) อุปทานการผลิตที่ลดลงในกลุ่มประเทศโอเปค เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะลิเบีย (3) ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความหนาวเย็นกว่าปกติ และ (4) การเก็งกำไรในตลาดน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังปี 54 ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงกว่าครึ่งแรกปี 54 เนื่องจากการมีแนวโน้มการเพิ่มการผลิตของประเทศนอกกลุ่ม OPEC และประเทศซาอุฯ รวมถึงการเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากความเปราะบางการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบปี 54 มีแนวโน้มปรับตัวในช่วง 96 — 106 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 101 ดอลลาร์/บาร์เรล
2. รถยนต์ฟื้นตัวยอดผลิตหายแค่ 9 หมื่นคัน
  • ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า จากการประชุมกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนล่าสุด ผู้ประกอบการได้รายงานว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์ได้หายไป 9.3 หมื่นคัน ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้ จากผลกระทบของแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น โดยตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดรถยนต์ไทยในประเทศมีการฟื้นตัวกลับมาเร็วกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ว่าการผลิตจะลดลงไป 1.5 แสนคัน โดยผู้ผลิตรถยนต์ต่างมีเป้าหมายในการผลิตกลับมาที่ 1.8 ล้านคันอีกครั้ง ขณะที่ตลาดในประเทศมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเติบโตถึง 9 แสนคัน เนื่องจากในช่วง 5 เดือนแรก มียอดจำหน่ายเติบโตอยู่ 24%
  • สสค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือน พ.ค. 54 หดตัวร้อยละ -15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงมาจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 17.8 ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้เต็มกำลังการผลิต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี พบว่า ความต้องการทั้งจากอุปสงค์ในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งหากมีการส่งมอบชิ้นส่วนประกอบจากญี่ปุ่นเข้ามาคาดว่าจะทำให้การผลิตเร่งตัวขึ้นมากในไตรมาส 3 ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์นั่งตั้งแต่ต้นปี 54 ถึงเดือน พ.ค. 54 ยังขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 33.6
3. ดัชนี PMI สหรัฐฯ เดือนมิ.ย. 54 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.3
  • สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.ของสหรัฐขยายตัวที่ระดับ 55.3 จุด มากกว่าเดือนพ.ค.ที่ระดับ 53.5 จุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนี PMI ที่ปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 สะท้อนว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯมีการขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การขนส่งและอุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ สอดคล้องกับดัชนีสินค้าคงคลังเดือน มิ.ย. 54 ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.1 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 48.7 และคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 51.6 ซึ่งส่งสัญญาณที่ดีสำหรับการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CPI) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 71.5 จากปัจจัยเสี่ยงทางด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเปราะบาง ทั้งนี้ สศค. ได้ประเมินเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 54 ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.3 (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 54)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ